วันพฤหัสบดี ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565, 20.23 น.
8 มิ.ย.2565 ที่อาคารรัฐสภา ได้มีการสัมมนา เรื่อง”การปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามรัฐธรรมนูญ โดยนำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษา” ซึ่งจัดโดย คณะกรรมาธิการการศึกษา และคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยมี นายตวง อันทะไชย ประธานกมธ.การศึกษา วุฒิสภา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง คณะกมธ.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กมธ.การศึกษา วุฒิสภา , ผู้บริหารระดับสูงสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน , ตัวแทนการศึกษาเอกชน , ตัวแทนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และตัวแทนการศึกษาในสังกัดกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมการประชุมสัมมนา
โดยนาย ตวง กล่าวว่า หลังจากโลกเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ในมุมส่วนตัวนั้น ถือว่าเป็นจุดตัดของโลก เพราะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ กระบวนการจัดการเรียนรู้ วิธีวัดผลประเมินผล การผลิตครู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดวิกฤตยูเครน – รัสเซีย ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงพลังงาน เป็นการขาดแคลนพลังงานครั้งใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดแคลนพลังงาน ได้ทำให้มนุษย์ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมถึงระบบการศึกษา เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย
“ยังจะทำให้โลกเกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหาร ซึ่งเห็นได้จากหลายประเทศกำลังเกิดความวุ่นวายอยู่ขณะนี้ ดังนั้นจึงคิดว่าวิกฤตเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา เพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ชาติ โดยในส่วนของประเทศไทย คนไทยต้องมีงานทำ มีอาชีพ มีรายได้ สามารถอยู่รอดปลอดภัยจากโลกอุบัติใหม่ จากวิกฤตต่าง ๆ เพราะฉะนั้นถ้าเรามีการจัดการศึกษาที่ดี จะทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้”
ประธาน กมธ.การศึกษา วุฒิสภา กล่าวด้วยว่า ทิศทางการจัดการศึกษาของประเทศไทยอย่างน้อย คือ ต้องมีทักษะความเป็นพลเมืองของโลก ได้แก่ 1.การมีทักษะดิจิทัล ต้องสามารถออกแบบเขียนโปรแกรมค้าขายพูดคุยกับคนทั่วโลกได้บนโลกดิจิทัล 2.การจัดการศึกษาเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย นั่นคือ การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ซึ่งเป็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานให้กับคนไทย เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางด้านอาหาร สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เลี้ยงทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่เลี้ยงได้ โดยวิธีการทรงงาน 27 ประการ หรือ ศาสตร์พระราชา ถือเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ให้ลงมือทำเอง คิดเอง แก้ปัญหาเอง เพื่อสรุปเป็นองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวผู้เรียนได้เอง ซึ่งตนถือว่าเป็นความมหัศจรรย์อย่างมาก
“ในยามที่ทั่วโลกเกิดวิกฤต ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตทางสังคม วิกฤตพลังงาน วิกฤตการขาดแคลนอาหาร ประเทศไทย คือ ประเทศที่โชคดีที่สุดในโลก ที่มีศาสตร์พระราชาเป็นธงชัย ต่อให้ต้องปิดประเทศ 20 ปี เราก็สามารถอยู่รอดได้ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร ถ้าเราสามารถนำศาสตร์พระราชา ไปสู่กระบวนการเรียนรู้ได้ เพราะเมื่อผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติ ได้คิด ได้แก้ปัญหาด้วยตัวเอง องค์ความรู้นั้นก็จะอยู่ในตัวผู้เรียน และเป็นความรู้ที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นศาสตร์พระราชาจึงเป็นทางเลือก ทางรอดของประเทศ”
ด้านนายศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า การนำหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชาไปสู่การจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาเป็นการสืบสานศาสตร์พระราชา 3 ด้าน หรือ 3 มิติ ที่ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมสู่การพัฒนาประเทศให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยสามารถดำเนินการได้ดังนี้ ด้านที่ 1 เป็นการนำองค์ความรู้ของศาสตร์พระราชาสาขาต่าง ๆ ในมิติที่ 1 ไปกำหนดเป็นสาระการเรียนรู้หรือเนื้อหา ให้ผู้เรียนทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย รวมถึงการศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาต่อเนื่องและการศึกษาตลอดชีวิต ด้านที่ 2 เป็นการนำวิธีทรงงาน 27 วิธีมาเป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างลักษณะนิสัยการทำงานที่ดีให้ติดตัวผู้เรียน เป็นการเรียนรู้ผ่านเทคนิคกระบวนการในมิติที่ 2 จากเนื้อหาต่าง ๆ ในมิติที่ 1 ไปสู่เป้าหมายและหลักการพื้นฐานในมิติที่ 3 สอดคล้องกับการทรงงาน คือ หลักธรรม หลักคิด และหลักปฏิบัติ (King’s Model) หรือ ถักทอเชื่อมโยงวิธีทรงงานทั้ง 27 วิธี กับกระบวนการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ได้แก่ กระบวนการคิดขั้นสูงเชิงระบบ GPAS 5 steps ก็จะสามารถพัฒนากระบวนการคิดขั้นสูงให้ผู้เรียนนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการตอบสนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ตามมาตรา 258 จ (4) ที่เน้นการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนทุกระดับชั้น ให้สอดคล้องกับความถนัดของผู้เรียนด้วย
ดร.ศักดิ์สิน กล่าวด้วยว่า ส่วนด้านที่ 3 ศาสตร์พระราชาด้านเป้าหมายการเรียนรู้และการทำงานในมิติที่ 3 จะสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่เน้นให้การศึกษาต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1. มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง 2. มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม 3. มีงานทำ มีอาชีพ และ 4. เป็นพลเมืองดี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ UNESCO ที่กำหนดหลักการพื้นฐานของการปรับปรุงการเรียนรู้ของคนในศตวรรษที่ 21 ว่าด้วย The four pillars of learning อีกทั้งเมื่อนำองค์ความรู้ด้านเป้าหมายของศาสตร์พระราชาไปกำหนดเป็นวัตถุประสงค์เป้าหมายของหลักสูตร ก็จะเชื่อมโยงสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ 17 ประการ (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เป็นอย่างดี
“การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อสืบสานศาสตร์พระราชา เป็นการนำเนื้อหาความรู้ในศาสตร์พระราชาและ 27 วิธีทรงงานของพระราชา รวมทั้งเป้าหมายการทรงงาน มาวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับหลักสูตรการเรียนการสอนของหน่วยงานทางการศึกษาทุกระดับว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร จะจัดลงไปในหลักสูตรได้อย่างไรบ้าง ทั้งรายวิชาพื้นฐาน รายวิชาเพิ่มเติม หรือรายวิชาเฉพาะในแต่ละระดับ หรือสาขาการศึกษา อาจจะจัดให้มีทั้งการเรียนการสอนในรายวิชาปกติ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน การเรียนรู้ด้วยโครงงานหรือการศึกษาอิสระ (Independent Study) หรือโครงงานวิทยานิพนธ์จบการศึกษา หลักสูตรเหล่านี้กระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ต้องมีความยืดหยุ่นในการสนับสนุนให้สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้เองตามบริบท