ตั้งกรรมการ2ชุดคานอำนาจกันและกัน/ชง”หมอธี”ส่งต่อนายกฯไฟเขียว
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.60 ที่โรงแรมตรัง นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) พร้อมด้วยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และตัวแทนศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)ตัวแทน ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ประมาณ 50 คน แถลงข่าวประเด็นความขัดแย้งในคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 19/2560 ในข้อที่ 13 ที่กำหนดให้อำนาจการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาในจังหวัดและกรุงเทพฯ ตามมาตรา53(3) และ(4) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 เป็นของ ศธจ.โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) จากเดิมเป็นอำนาจของ สพท.มาตรา53(3) เป็นอำนาจของ ผอ.โรงเรียน เพื่อแก้ไขความขัดแย้งระหว่าง ศธจ.และ ผอ. สพท.
ล่าสุดทั้ง 2 หน่วยงาน จะมีการเสนอแก้ไขคำสั่งดังกล่าว เพื่อคืนอำนาจให้กับ ผอ.สพท.นั้น
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ได้เชิญตัวแทน ศธจ.และ ผอ.สพท.มาประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนด้านการบริการงานบุคคลระหว่าง สพท.และ ศธจ.ของกระทรวงฯ ให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการพูดคุย และมีข้อสรุปที่จะเสนอแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 โดยให้ ศธจ.เป็นผู้แทน ศธ.ทำหน้าที่ประสานงาน บูรณาการการศึกษาในระดับจังหวัด ซึ่งได้มีการเสนอตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการบูรณาการด้านการศึกษา และ คณะกรรมการการบริหารงานบุคคล ทั้ง 2 ชุด จะมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน และ ศธจ.เป็นเลขานุการ
สำหรับคณะกรรมการบริหารงานบุคคล จะมี ผอ.สพท.ในจังหวัดทุกคนร่วมเป็นกรรมการ พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนจากส่วนต่าง ๆ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมาย กำหนดสัดส่วนผู้แทนให้ชัดเจน
ทั้งนี้ การบริหารงานบุคคลในส่วนของอำนาจตามมาตรา 53ให้ ผอ.สพท.เป็นผู้ลงนามตามมติ กศจ. ส่วนผอ.โรงเรียน ลงนามตามมติ กศจ. ซึ่ง ผอ.โรงเรียน มีอำนาจลงนามอนุมัติเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครูที่ไม่มีวิทยาฐานะตั้งแต่การแต่งตั้ง เลื่อนขั้นเงินเดือน หรืออื่น ๆ ที่เป็นมติของ กศจ. ส่วนครูที่มีวิทยฐานะแล้ว เป็นอำนาจของผอ.สพท.พิจารณา ขณะที่ในส่วนของ กศจ.มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติ ตามที่ ผอ.สพท.เสนอ ซึ่งตรงนี้มีการคานอำนาจกรณีที่ กศจ.เห็นเรื่องที่ ผอ.สพท.เสนอมาไม่เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย ก็จะไม่อนุมัติหรือขอให้ชี้แจงเพิ่มเติม เป็นการถ่วงดุลการใช้อำนาจระหว่าง ผอ.สพท. และกศจ. การพิจารณาเรื่องการบริหารงานบุคคลจะจบสุดท้ายที่คณะกรรมการชุดนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแก้ไขคำสั่งลักษณะนี้ทำให้ ศธจ.ไม่มีอำนาจในการบริหารเป็นเพียงคนกลางเท่านั้น
นายบุญรักษ์ กล่าวว่า ศธจ.ก็มีอำนาจ เพราะทุกเรื่องที่จะใช้อำนาจ ผอ.สพท. หรือผอ.โรงเรียนก็จะต้องส่งเรื่องผ่าน ศธจ.ก่อน เสนอให้กรรมการแต่ละชุดพิจารณา โดย ศธจ.จะมีการกลั่นกรองว่าเป็นไปตามขั้นตอน หรือไม่ก่อนเสนอเข้า กศจ.อนุมัติ ซึ่ง ศธจ.ก็คือแม่บ้านใหญ่ที่จะนำเรื่องเข้า แม้จะไม่มีอำนาจไปบริหาร โรงเรียนหรือบริหารเขตพื้นที่ฯ แต่มติที่ออกมาก็ต้องรับผิดชอบผลทางกฎหมายด้วย หากเรื่องใดไม่เป็นไปตามขั้นตอนกระบวนการ ศธจ.อาจใช้วิธีประสานภายในให้ สพท.ปรับแก้ ศธจ.ไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะไม่เสนอเรื่องให้ กศจ.พิจารณา แต่มีอำนาจในการขอข้อมูลเพิ่มเติมจาก สพท.
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. กล่าวว่า ขณะนี้ ตนได้เซ็นหนังสือแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 เสนอให้ นพ.ธีระเกียรติเจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. พิจารณาอนุมัติ
ทั้งนี้ตนขอย้ำว่าการตั้ง ศธจ.เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของหน่วยงานในพื้นที่ ศธจ.จะเป็นตัวแทนจากส่วนกลาง ลงไปทำงานเชิงบูรณาการทั้งงบประมาณ งานบุคคล ซึ่งงานจะต้องหนักขึ้นกว่าเดิม เพราะต่อไปต้องประสานอย่างเข้มข้นไม่ใช่เฉพาะแต่เขตพื้นที่ฯ เทานั้น แต่รวมถึงสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นายเชิดศักดิ์ ศรีสง่าชัย ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.)ขอนแก่น ในฐานะประธานชมรม ศธจ. กล่าวว่าเป้าหมายของ ศธจ.จะต้องตอบโจทย์คุณภาพการจัดการศึกษาสร้างความเป็นเอกภาพในการจัดการศึกษา บูรณาการการจัดการศึกษาหลายจังหวัดมีความเป็นหนึ่งเดียว ตอนนี้มีแนวร่วมมากในการทำงานให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ ยินดีที่จะร่วมมือกับ ผอ.สพท.ในการพัฒนาการศึกษาในพื้นที่ ส่วนการปรับแก้อำนาจการบริหารงานบุคคล ศธจ.ไม่ติดใจแล้วแต่ผู้ใหญ่ให้ทำอะไรก็พร้อมจะทำตาม ขออย่างเดียวให้ ผอ.สพท.และ ศธจ.เป็นพี่น้อง ทำงานร่วมกัน เป็นหนึ่งเดียว ยอมรับว่า ศธจ.ได้มีการหารือเรื่องการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 แต่ เลขาธิการ กพฐ.และปลัด ศธ. ก็ได้ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้ง ศธจ.และ สพท.ก็พอใจ เราจะเลิกมีความขัดแย้งกัน เราจะเป็นพี่น้องกันจับมือร่วมกันพัฒนาการศึกษาต่อไป
นายอดุลย์ กรองทอง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)อำนาจเจริญ กล่าวว่า สพท.และศธจ.ไม่มีใครขัดแย้งกันส่วนตัว ปัญหาการขับเคลื่อนงานที่สะดุดเกิดขึ้นมาจากการโอนอำนาจตามมาตรา 53ในข้อที่ 13 ของคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 ไปให้ กศจ. ส่งผลให้งานหลายอย่างล่าช้าสะดุดตามไปเสียเวลา เสียโอกาสในแง่การบริหารงาน และส่งผลกระทบต่อผู้เรียน การขอใช้อำนาจไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นของเขตพื้นที่ฯ เท่านั้น หรือเป็นอำนาจของใคร จะเป็นใครก็ได้แต่ต้องทำเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเด็ก ต่อการศึกษา และเจตนาเพื่อให้งานทุกอย่างเดินหน้าคล่องตัว
นายทองสุข อยู่ศรี ผอ.สพป.นครสวรรค์ เขต 2 กล่าวว่า การหารือร่วมกันยระหว่าง ศธจ.และผอ.สพท.ครั้งนี้ ถือเป็นมติเห็นพ้องร่วมกันกับแนวทางการแก้ไขคำสั่ง คสช.ที่ 19/2560 และจะเดินหน้าทำงานร่วมกัน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเรามีข้อติดขัดจนบั่นทอนการทำงานมานานเกินไป 5-6 เดือน และจะร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนงานการศึกษาในภูมิภาค เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ