ศธ.คัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็ก-ขนาดกลาง 77 โรงเรียนต้นแบบ Public School เริ่มทันทีเปิดเทอม พ.ค.61 บริหารจัดการอิสระโดย 4 ภาคส่วน มีอำนาจเลือก ผอ.โรงเรียน/จ้างครูสอนได้เอง
วันที่ 8 มี.ค.2561 นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการสถานศึกษาในรูปแบบ Public School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการศึกษา ในรูปแบบ Public School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมีนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นประธาน ทำหน้าที่ในการวางกรอบมาตรฐานการดำเนินการโรงเรียนรูปแบบดังกล่าว รวมถึงทำหน้าที่คัดกรองสถานศึกษาที่จะเข้าร่วม เบื้องต้นจะเริ่มดำเนินการในโรงเรียนขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่มีความเหมาะสมจังหวัดละ 1 แห่ง หรือ 77 โรงเรียน โดยอาจมีมากกว่า 77 โรงเรียน หากคณะกรรมการดำเนินการ พัฒนาฯ เห็นว่ามีความเหมาะสม
ทั้งนี้ โรงเรียน Public School จะเป็นโรงเรียนในกำกับของ ศธ.เช่นเดิมแต่จะมีรูปแบบการบริหารจัดการที่มีความอิสระ ภายในคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 4 ภาคส่วน คือ ผู้แทนจากภาครัฐ ภายประชาสังคม หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ เท่านั้นแต่ยังเปิดโอกาสให้คณะอื่น ๆ เช่น คณะวิทยาศาสตร์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารสถานศึกษาด้วย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา มีอำนาจในการคัดเลือก ผอ.โรงเรียน ซึ่งหากเห็นว่าผู้บริหารเดิมไม่เหมาะสม ก็สามารถเสนอคัดเลือกใหม่ได้ โดยเปิดกว้างให้คัดเลือกผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการด้านการศึกษา ได้ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงเปิดโอกาสให้อาจารย์จากคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เข้ามาเป็น ผอ.โรงเรียนได้ด้วย
ขณะเดียวกันในส่วนของครูผู้สอน เปิดโอกาสให้คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา คัดเลือกครูได้เอง ทั้งจากครูที่เป็นข้าราชการของ ศธ. และสามารถจ้างผู้ที่มีความรู้สาขาที่ต้องการมาสอนเป็นครูอัตราจ้าง สามารถกำหนดอัตราเงินเดือนเองได้ ส่วนครูที่เป็นข้าราชการ คณะกรรมการบริหารสถานศึกษา สามารถกำหนดเงินท็อปอัพพิเศษให้ได้ด้วยเช่นกัน
“การดำเนินการโรงเรียนรูปแบบ Public School จะเริ่มทันทีในช่วงเปิดเทอมเดือน พ.ค.ปีการศึกษา 2561 นี้ โดยเราจะไม่ใช้คำว่าโรงเรียนนำร่อง เพราะเราจะทำจริงทำเป็นโรงเรียนต้นแบบ เพื่อขยายไปในโรงเรียนอื่น ๆ ในอนาคต ศธ.มีโรงเรียนในกำกับทั้งหมด 3.7 หมื่นโรงเรียน ที่ต้องดูแลมานานเป็น 10 ปี แต่ก็ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ต้องเปิดกว้างให้ภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วม ส่วน ศธ.ทำหน้าที่ในการกำกับนโยบาย ทั้งนี้ ในส่วนของข้อกฎหมายต่าง ๆ นั้น ที่ประชุมได้สอบถามทางสำนักงาน ก.ค.ศ. ยืนยันว่า กฎหมายมีช่องทางให้สามารถดำเนินการได้ทั้ง ผอ.โรงเรียนและครู มีเพียงเรื่องงบประมาณที่จะต้องลงไปดูในรายละเอียด”
นพ.อุดม กล่าวและว่า โรงเรียน Public School ไม่ถือว่าซ้ำซ้อนกับโรงเรียนในกำกับรัฐ ของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เพราะโรงเรียนในกำกับรัฐ ของ กอปศ.จะต้องรอปรับแก้กฎหมายหลายฉบับ ขณะที่โรงเรียน Public School
สามารถดำเนินการได้ทันทีภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ และอนาคตโรงเรียนทั้งสองรูปแบบ ก็จะมารวมเป็นรูปแบบเดียวกัน เพราะมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระเช่นเดียวกัน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ