ศธ. ดีเดย์ประเมินคุณภาพสถานศึกษา รอบ4 ต.ค.นี้ ภายใต้กรอบมาตรฐานเดียวกัน ระหว่าง ศธ.และสมศ. ย้ำไม่เน้นเอกสาร ดูคุณภาพผู้เรียน คุณภาพการสอนเชื่อมโยงหลักเกณฑ์วิทยฐานะครูแบบใหม่
วันที่ 6 ก.ค.60 นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ตนได้หารือร่วมกับผู้บริหาร สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และหน่วยงานใน ศธ.ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินคุณภาพสถานศึกษา โดยหลักการที่ประชุมเห็นตรงกันว่า การประเมินคุณภาพสถานศึกษาในระยะนี้ จะไม่มีการประเมินเพื่อรับรอง หรือไม่รับรองคุณภาพสถานศึกษา แต่จะเป็นการประเมินเพื่อพัฒนาสถานศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ในการประเมินจะดำเนินการตามกรอบมาตรฐานที่ตกลงร่วมกันระหว่าง ศธ.กับ สมศ. ซึ่งจะเป็นกรอบมาตรฐานกว้าง ๆ และให้สถานศึกษาแต่ละสังกัดไปจัดทำรายละเอียดการประเมินของตนเอง ซึ่งต่อไปจะไม่มีมาตรฐานการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาของแต่ละสังกัดอีกแล้วจะมีเพียงมาตรฐานเดียวที่ ศธ.และสมศ. เห็นชอบร่วมกัน
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า เมื่อได้กรอบมาตรฐานกลางซึ่ง สมศ.และ ศธ.เห็นชอบร่วมกันแล้ว สถานศึกษาจะไปพัฒนาตัวเองตามแนวทางที่กำหนด และเขียนรายงานการพัฒนาตัวเองส่งมายังต้นสังกัด จากนั้น สมศ.และต้นสังกัดจะส่งผู้ประเมินลงไป ซึ่งผู้ประเมินประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จาก 3 กลุ่มคือ ผู้ทรงคุณวุฒิจาก สมศ., ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ศธ. และกลุ่มผู้บริหารสถานศึกษา ที่อยู่คนละจังหวัด
ทั้งนี้ การประเมินจะไม่เน้นเอกสาร แต่เป็นการประเมินในเชิงคุณภาพจากการพูดคุยและสังเกตการณ์ โดย กรอบการประเมินจะดูเรื่องคุณภาพผู้เรียน คุณภาพการเรียนการสอน คุณภาพการบริหารและคุณภาพของการประกัน ซึ่งได้ย้ำเป็นพิเศษในส่วนของคุณภาพการเรียนการสอน ขอให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะใหม่ ซึ่งได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 5 ก.ค.60
“สิ่งที่จะดำเนินการระยะนี้คือ สมศ.จะจัดส่งร่างกรอบมาตรฐานการประเมินแต่ละสังกัด ทั้งก่อนวัยเรียน ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษาให้ ศธ.พิจารณา เพื่อยืนยันว่าเป็นกรอบมาตรฐานที่เห็นชอบร่วมกัน จากนั้นภายในเดือน ก.ค.นี้ สมศ.จะเดินหน้ารับฟังความคิดเห็น และสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง จัดอบรมพัฒนาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่จะต้องลงไปประเมินสถานศึกษา แต่ละกลุ่มอย่างเข้มข้นในช่วงเดือน ส.ค.60 คาดว่าจะสามารถเริ่มประเมินสถานศึกษา รอบ4 ได้ภายในเดือน ต.ค.60 นี้ โดยกลุ่มที่จะเข้ารับการประเมินรุ่นแรกขอให้เป็นไปด้วยความสมัครใจ ส่วนจะนำร่องจำนวนเท่าไรนั้น ต้องพิจารณาความเหมาะสมร่วมกันอีกครั้ง”นายชัยพฤกษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ