สังคายนาฐานข้อมูลเลข13หลักเด็กขั้นพื้นฐาน หลังซ้ำซ้อนหลายสังกัด เช็คการเบิกจ่ายงบอุดหนุนง่ายขึ้น
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประมวลผลฐานข้อมูลนักเรียน จากตัวเลข 13 หลัก ของศูนย์เทคโนโยลีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เบื้องต้นพบว่า มีความซ้ำซ้อน โดยล่าสุดภาคเรียนที่ 2/2560 (10 พ.ย.) มีตัวเลขเด็กซ้ำซ้อนในสถานศึกษาทั้งภายในสังกัดเดียวกันและต่างสังกัด จำนวน 117,431 คน
โดยเป็นนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อายุ 3-18 ปี ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) มีความซ้ำซ้อนซึ่งกันและกับสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) จำนวน 16,840 คน สพฐ.ซ้ำซ้อนกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) จำนวน 35,328 คน สพฐ.ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)จำนวน 18,329 คน สพฐ.ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)ในส่วนของโรงเรียนสาธิต จำนวน 283 คน
ขณะที่ สช.ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาสังกัดเดียวกัน 67 คน สช.ซ้ำซ้อนกับ กศน.จำนวน 2,753 คน สช.ซ้ำซ้อนกับ สอศ.จำนวน 680 คน สช.ซ้ำซ้อนกับ สกอ.จำนวน 476 คน กศน.ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาสังกัดเดียวกัน จำนวน 633 คน กศน.ซ้ำซ้อนกับ สอศ.จำนวน 37,824 คน กศน.ซ้ำซ้อนกับ สกอ.30 คน สอศ.ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาสังกัดเดียวกัน จำนวน 4,166 คน สอศ.ซ้ำซ้อนกับสกอ.9 คน และ สกอ.ซ้ำซ้อนกับสถานศึกษาสังกัดเดียวกัน 13 คน รวมตัวเลขเด็กซ้ำซ้อน 117,431 คน
ทั้งนี้ข้อมูลตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมนักเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน เทศบาลเมืองพัทยา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกรุงเทพมหานคร ซึ่งยังไม่ได้ส่งรายงานมา
ปลัดศธ.กล่าวต่อไปว่า จากการตรวจพบตัวเลขดังกล่าว ตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุม โดยได้มอบรายชื่อเด็กและชื่อโรงเรียนที่ซ้ำซ้อนไปตรวจสอบอีกครั้งว่าหน่วยงานของตัวเองซ้ำซ้อนกับหน่วยงานใดบ้าง และให้ยืนยันว่ามีเด็กที่มีตัวตนในสถานศึกษาใด รวมถึงให้ดูเรื่องการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายรายหัว เงินอุดหนุนการจัดการศึกษาด้วย เพื่อจะได้ตรวจสอบว่ามีการเบิกจ่ายกันอย่างไร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนมีการทุจริต ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีการตั้งเบิก แต่ไม่มีเด็ก เงินก็จะคงค้างในระบบ หรืออาจเอาเงินไปทำกิจกรรมนักเรียน หรือค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น ยกเว้น สช.ที่มีจำนวนสถานศึกษาน้อยจึงมีระบบตรวจสอบที่รัดกุม
“แนวทางแก้ไขปัญหาในอนาคตจะต้องปรับระบบการรายงานข้อมูลนักเรียนกันใหม่ โดยให้สถานศึกษาทุกสังกัด โยนข้อมูลมาที่ฐานข้อมูลกลาง หรือถังกลางของ ศธ. เพื่อจะได้ตรวจสอบในทันทีเมื่อรับนักเรียนเสร็จสิ้น และตรวจสอบซ้ำในภาคเรียนที่ 2 โดยภาคเรียนแรกของปีจะให้รายงานให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย. และภาคเรียนที่ 2 ภายในเดือน พ.ย. เพราะหากเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักซ้ำ กันจะเป็นตัวแดง ก็จะรู้ทันที่ว่ามีการซ้ำซ้อนเกิดขึ้น ทำให้การทำงานง่ายขึ้น และต่อไปการของบประมาณจะต้องยึดข้อมูลกลางจากฐานข้อมูลเดียวแต่ทุกวันนี้ต่างคนต่างส่งข้อมูลใส่ถังของตัวเอง กว่าจะเจอว่าซ้ำซ้อนก็ล่าช้าไปมากแล้ว โดยขณะนี้ ศธ.ได้จัดทำฐานข้อมูลกลางเสร็จเรียบร้อยแล้ว” นายการุณ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ