ศธ.ตั้งทีมขับเคลื่อนไทยนิยมยั่งยืน มอบกศน.ตำบล-นศ.ราชภัฏเป็นแกนหลักเข้าถึงปชช.
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชนในด้านต่าง ๆ และขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของหน่วยงานในพื้นที่ โดยมุ่งให้เกิดผลสัมฤทธิ์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ผ่านโครงการ“ไทยนิยม ยั่งยืน” 10 ข้อ นั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนได้เป็นประธานการประชุมหารือขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ของ ศธ.โดยมีผู้ตรวจราชการ ศธ. ผู้บริหารทุกสังกัด และหน่วยงานในกำกับของ ศธ.เข้าร่วมประชุม เพื่อเป็นการเริ่มต้นโครงการไปพร้อมกับการที่นายกรัฐมนตรีได้คิกออฟ (Kick off) โครงการที่ จ.นครปฐม ซึ่งได้ให้แนวทางการทำงานตามที่นายกฯ ได้เน้นย้ำว่าให้มุ่งขับเคลื่อนการทำงานให้สอดคล้องรองรับกับกรอบงาน 10 เรื่อง สร้างการบูรณาการในการขับเคลื่อนงาน ห้ามมองข้ามความต้องการของพื้นที่ และต้องให้ความสำคัญกับบิ๊กดาต้า (Big Data) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง รายงานผลการดำเนินงานทุก 3 เดือน และขอให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐวาง ตัวให้เหมาะสมไม่ประพฤติตนเป็นนายของประชาชน
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นปัญหาสำคัญของการดำเนินงานที่ผ่านมา คือเรื่องการสร้างการรับรู้ ที่ยังไม่เข้าถึงในทุกพื้นที่ ดังนั้น ศธ.จึงมอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เป็นหลักในการสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะมีหน่วยงานที่ครอบคลุมไปถึง กศน.ตำบล ขณะเดียวกันจะให้ความสำคัญกับนิสิต นักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.)ทั่วประเทศ ในการเข้ามามีส่วนร่วมเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการอีกแรงหนึ่งด้วย
ด้านนายอำนาจ วิชยานุวัติ ผู้ตรวจราชการ ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบถึงการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องสร้างการรับรู้และทำความเข้าใจกับกลไกและแนวทางการขับเคลื่อนให้ชัดเจน โดยเป้าหมายหลักของโครงการ คือการมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ที่ต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 76 จังหวัด 878 อำเภอ และพื้นที่กรุงเทพฯ 50 เขต โดยได้มีการจัดทีมขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการ จำนวน 7,663 ทีม ดำเนินการในพื้นที่หมู่บ้าน/ชุมชน และชุมชนในกรุงเทพฯ รวม 81,151 แห่ง แยกเป็นขับเคลื่อนในพื้นที่ตำบล 7,255 ตำบล 75,032 หมู่บ้าน ขับเคลื่อนพื้นที่ชุมชนเมือง 208 ทีม 6,052 ชุมชน ขับเคลื่อนในพื้นที่ชุมชนกรุงเทพฯ 200 ทีม 2,067 ชุมชน
สำหรับการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยม ยั่งยืน 10 ข้อ ประกอบด้วย สัญญาประชาคมผูกใจไทยเป็นหนึ่ง เน้นสร้างความสามัคคีปรองดอง ให้เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติตามร่วมกัน, คนไทยไม่ทิ้งกัน ด้วยการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะผู้ลงทะเบียนในโครงการสวัสดิการแห่งรัฐ, ชุมชนอยู่ดีมีสุข มุ่งพัฒนาอาชีพ เสริมรายได้ให้ประชาชน, วิถีไทยวิถีพอเพียง ส่งเสริมการนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้ในการดำเนินชีวิตทุกกลุ่มทุกช่วงวัย, รู้สิทธิ รู้หน้าที่ รู้กฎหมาย เน้นให้ประชาชนมีความรู้ในสิทธิ หน้าที่ และการเป็นพลเมืองที่ดี, รู้กลไกการบริหารราชการ ที่ต้องการให้ประชาชนเข้าใจการบริหารราชการทุกระดับ เพื่อมุ่งสร้างประโยชน์ให้ประชาชน, รู้จักประชาธิปไตย ไทยนิยม ให้ประชาชนเข้าใจหลักธรรมาภิบาล, รู้เท่าทันเทคโนโลยี ให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องผ่านโครงการสำคัญ เช่น อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน, ร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติด บูรณาการการทำงานทุกหน่วยงานเร่งแก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร, รู้งานตามภารกิจของทุกหน่วยงาน คือกำหนดกิจกรรมของส่วนราชการที่ลงไปปฏิบัติในพื้นที่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ