หมอธี เผยรัฐบาลเตรียมวางรากฐานอินเตอร์เน็ต 4.0 จัดงบฯ ให้ผอ.สถานศึกษาเลือกใช้เครือข่ายที่ดีที่สุด เพื่อรองรับการเรียนรู้ของนักเรียน
วันที่ 20 พ.ย.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมติดตามปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา( สอศ.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) ในพื้นที่จังหวัดสุโขทัย ว่า
การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อพบปะพูดคุยและรับฟังปัญหาการใช้งานอินเตอร์เน็ต ของสถานศึกษาทุกสังกัด จากคนในพื้นที่ และต้องการที่จะมาดูให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของสถานศึกษาในจังหวัดสุโขทัย และจากการสอบถามพบว่า สถานศึกษาทั่วประเทศใช้บริการระบบอินเตอร์เน็ตซ้ำซ้อน ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART TELECOM, AIS และ 3BB) รวมถึงยังมี MOE net ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการเพราะไม่มีตัวตน แต่ MOE net ไปซื้อบริการสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษาแบบกะปริบกะปรอย ซึ่งสถานศึกษาต้องเสียค่าใช้บริการในส่วนนี้
ดังนั้น เพื่อให้การใช้งบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุด เบื้องต้นจะต้องไม่มี MOE net และให้อำนาจการซื้ออินเตอร์เน็ตอยู่ในมือผู้บริหารสถานศึกษา เลือกซื้อเครือข่ายอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุดเป็นของตนเอง โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป
“การแก้ปัญหานี้ขั้นแรกต้องปราบผี MOE net ก่อน ต่อไปนี้จะไม่มี MOE net อีกแล้ว ซึ่งก่อนที่รัฐบาลนี้จะไป ต้องมีการวางรากฐานอินเตอร์ยุค 4.0 ไว้พร้อมใช้ ซึ่งในส่วนของ ศธ.ผมจะให้เงิน ผอ.สถานศึกษา ไปเลือกใช้สัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ดีที่สุด”
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ขณะนี้เริ่มมีการพูดกัน ว่ารัฐมนตรียกเลิก MOE net เพื่อรวบรวมเงินไปทำโครงการของตัวเองนั้นไม่เป็นความจริง โดยนโยบายนี้หากทำเรื่องนี้สำเร็จจะประหยัดเงินได้กว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งเงินนี้ไม่ได้ไปไหนจะนำมาให้สถานศึกษาได้เลือกใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยตัวเอง ซึ่งจากนี้ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.) ต้องลงตรวจพื้นที่เรื่องการใช้อินเตอร์เน็ต ซึ่งจะถือเป็นตัวชี้วัดการทำงานด้วย ขณะเดียวกันขอให้ทุกแห่งยกเลิกการทำคู่มือการใช้อินเตอร์เน็ต ขอให้เปลี่ยนเป็นระบบให้คำปรึกษา หรือใช้เงินที่ ศธ.จะให้ไปจ้างผู้เชี่ยวชาญมาให้คำปรึกษา
นอกจากนี้จะเสนอของบประมาณ เพื่อพัฒนา UniNet เครือข่ายหนึ่งของรัฐ ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายนี้ครอบคลุมโรงเรียนสังกัด สพฐ.ประมาณ 10,000 แห่ง และอาชีวศึกษารัฐ 426 แห่ง รวม ถึงมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ดังนั้นจะพัฒนาให้เป็นทางเลือกหนึ่งของสถานศึกษา
ทั้งนี้ มั่นใจว่าการให้ ผอ.สถานศึกษา เลือกเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเองจะเกิดปัญหาทุจริตได้ยาก เพราะเงินที่ลงมาไม่มาก และการจัดซื้อเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป ตรงกันข้ามจะทำให้เครือข่ายเอกชนแข่งขันประกวดราคามากขึ้น อย่างไรก็ตาม เรื่องประเด็นไม่ได้อยู่ที่การประหยัดงบฯ แต่ให้เด็กได้เข้าถึงและพัฒนาการเรียนรู้ได้มากขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ