“หมอธี” คาดหวังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช่ทำแค่ลมปาก ปฏิรูปการศึกษาจึงเกิดผล
วันที่ 3 มี.ค.60 ที่หอประชุมพิบูลสงคราม วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จัดสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปการจัดการดูแลพัฒนาและการจัดการศึกษาปฐมวัยให้มีมาตรฐานและเอกภาพ” นายวิวัฒน์ ศัลยกำจร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.(…) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับการดูแลและพัฒนาเด็กเล็กก่อนเข้ารับการศึกษา ซึ่งตนดีใจที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รับเป็นเจ้าภาพและจะเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้
ส่วนเรื่องข้อห่วงใยเรื่องงบประมาณที่จะนำมาดูแลเด็กเล็กตั้งแต่ 1-3 ปีนั้น แม้จะเป็นเรื่องยากที่จะหางบฯมาสนับสนุน แต่เมื่อมีการบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วก็เป็นเรื่องท้าทายที่ต้องทำ โดยต้องระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามจะมีการจัดตั้งกองทุนการศึกษาเพื่อช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ภายใน 1 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้มีเงินมาพัฒนาการศึกษา
ด้าน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาให้ได้ผลต้องลงลึกไปถึงเด็กตั้งแต่ปฐมวัย ต้องทำให้เด็กอยากเรียนและครูอยากสอน ไม่ใช่จะมีกี่แท่งหรืออธิบดีกี่คน และที่สำคัญต้องห่วงใยคนจนโดยไม่ต้องไปยุ่งกับคนรวย ต้องขอชอบคุณ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนุญ ที่เปลี่ยนจุดเน้นสำคัญมาให้โอกาสกับคนจน ซึ่งตนอยากให้ช่วยเสนอต่อรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บังคับให้การดูแลเด็กปฐมวัยต้องเริ่มตั้งแต่ 0-3 ปี ที่ผ่านมา ศธ. รับผิดชอบเด็กตั้งแต่ 4-5 ปี
ซึ่งประเทศไทยมีเด็ก 4 ขวบเกือบ 800,000 คน แต่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพียง 400,000 คน ส่วนที่เหลือไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่จากนี้ต่อไป ศธ.ต้องทำให้เด็กปฐมวัยกว่า 750,000 คนต้องได้เรียน แต่จากการหารือกับสำนักงบประมาณแล้วทราบว่า ไม่มีเงินมาดำเนินการ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา เพราะเชื่อว่าเราเดินมาถูกทางแล้ว
“หลักการการจัดการศึกษาปฐมวัย ทุกคนต้องช่วยกัน แบ่งงานกันให้ชัดเจนอย่าให้เกิดปรากฏการณ์ นางสาวไทย คือทุกคนรักเด็ก คือเป็นแค่ลมปากและบูรณาการกันแต่ในกระดาษ ดังนั้น ต้องมาตกลงแบ่งงานว่าใครถนัดด้านไหนก็รับไปทำ ส่วนฝ่ายนโยบายก็ต้องมีทิศทางและจัดสรรงบประมาณให้ถูก โดยสิ่งสำคัญคือต้องดูเรื่องการเข้าถึงของเด็กควบคู่ไปกับการจัดดูแลเด็กอย่างมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและความคุ้มค่า โดยต้องไปให้ถึงแก่นว่าเด็กวัยนี้ต้องการอะไร ไม่ใช่จัดการศึกษาเพื่อให้เด็กไปสอบแข่งขัน แต่เป็นการดูแลและเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก โดยเฉพาะต้องรุกเข้าไปหาคนจนไม่ใช่นั่งรอให้เขามาหา ฉะนั้นช่วงแรกผมจะเน้นโอกาสและการเข้าถึงของคนจนอย่างแท้จริง” รมว.ศึกษาธิการ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ