ศธ.สรุปคดี MoeNet – อะควาเรียมหอยสังข์ มีมูล เตรียมส่ง ป.ป.ช./ป.ป.ท./ปปง. และ สตง.สอบสวนต่อ
วันที่ 18 เม.ย.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า กรณีการสืบสวนข้อเท็จจริงการเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตในระบบ MoeNet ของ ศธ.นั้น ที่ผ่านมาตนได้เข้ามาเป็นประธานในการสืบสวนข้อเท็จจริง เรื่องนี้ด้วยตัวเอง และขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้วว่า มีมูลการทุจริตจริง เพราะมีการเสนอสินบนให้กับนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัด ศธ. ซึ่งนายประเสริฐ ได้แจ้งให้ตนทราบตั้งแต่ปลายปี 2560 ว่าถูกเสนอให้รับสินบนเพื่อต่อสัญญาการใช้ MoeNet
ทั้งนี้ นายประเสริฐ เข้ามาดูแลเรื่องนี้ในฐานะรองปลัด ศธ. ที่ได้รับมอบหมาย โดยที่ยังไม่เคยเห็นสัญญา ซึ่งส่วนตัวนายประเสริฐ ต้องการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่ข่มขู่ว่าหากไม่เซ็นต่อสัญญาจะทำให้โรงเรียนกว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ โดยนายประเสริฐ ยืนยันว่าไม่เซ็นและขอให้มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง ดังนั้น ตนถือว่า นายประเสริฐ ไม่ได้โกงและได้เข้ามาเป็นพยานให้กับคณะกรรมการสืบสวนฯ นำมาสู่การปรับเปลี่ยนนโยบายการเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยให้โรงเรียนสามารถเลือกเช่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ในส่วนของข้าราชการ ศธ. ที่พาบริษัทเอกชนเข้ามาเสนอสินบนนั้น เบื้องต้นได้ย้ายออกจากหน้าที่เดิมไปก่อนแล้ว
“หลังจากที่ได้รับรายงานจากนายประเสริฐ ผมได้สั่งการให้มีการตรวจสอบในทางลับ จนกระทั่งตั้งทีมงานตรวจสอบเรื่องนี้ แต่ก็ยังหาข้อมูลมาตอบคำถามได้ไม่ตรงใจ ซึ่งจริง ๆ แล้วคำให้การของนายประเสริฐ เพียงพอแล้วที่จะบอกได้ว่าน่าจะมีการทุจริต เพราะมีการเสนอสินบน และข้าราชการรายนี้ยังมีการกล่าวหาว่า อดีตข้าราชการผู้ใหญ่ ทั้งปลัด รองรองปลัด ซึ่งไม่รู้คนไหนมีการรับสินบนด้วย ดังนั้น กรณีนี้มีมูลที่กล่าวหากันผมถือว่าการสืบสวนฯ ได้จบสิ้น และจะส่งข้อมูลทั้งหมดให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้สอบสวนต่อไป ซึ่งผมจะส่งด้วยตนเอง ถ้าเป็นจริงตามข้อมูลที่กล่าวหา หมายความว่าจะมีข้าราชการระดับสูงตั้งแต่ ระดับ 9, 10 และ 11 เกี่ยวข้องด้วย ตรงนี้ผมยังไม่ได้ปรักปรำใคร เพราะเป็นข้อกล่าวหาจะต้องสืบสวนต่อ”
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังพบเอกสารใบเรียกเก็บเงิน ซึ่งส่งไปที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานปลัด ศธ. ซึ่งยังไม่ได้จ่ายเงินเพราะมีมูลค่ามหาศาล บ่งบอกว่าอาจจะมีการให้สินบน ซึ่งเฉพาะเดือน พ.ย.2560 ที่ผ่านมาเรียกเก็บเงิน สพฐ.ถึง 100 กว่าล้านบาท ปีหนึ่งเฉพาะ สพฐ.ใช้เงินเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตถึง 2 พันกว่าล้านบาท ดังนั้น ผมจะส่งให้ ป.ป.ท. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.)ตรวจสอบต่อไป
ส่วนที่อ้างว่าเป็นการเช่าซื้อสัญญาแบบ จีทูจี ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีสัญญานั้น ตรงนี้ตนจะส่งให้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบว่ากระบวนการจัดซื้อจัดจ้างถูกต้องหรือไม่ ถ้าสตง.ชี้ว่าผิด ข้อมูลก็จะไปเชื่อมโยงกับป.ป.ช. ซึ่งเท่าที่ทราบมีกลายบริษัท และมีเอกชนเข้าร่วมด้วย ส่วนมูลค่าความเสียหายจะเป็นเท่าไรนั้น ยังตอบไม่ได้
ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จการก่อสร้างโครงการสร้างศูนย์ศึกษาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ จ.สงขลา
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัด ศธ. ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง รายงานให้ตนทราบว่า เกือบจะได้ข้อสรุป แล้ว คือน่าจะมีมูลการทุจริตค่อนข้างชัด รอเพียงเอกสารอย่างเป็นทางการ ทั้งการแก้ไขสัญญา การส่งงานโดยไม่ได้ติดตามผล การจ่ายเงินล่วงหน้า ซึ่งผิดระเบียบพัสดุหลายอย่าง โดยในสัปดาห์หน้า จะทำตามมาตรการป้องกันและปราบทุจริตในระบบราชการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายระดับ เรื่องนี้มีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ระดับสูงสุดจะอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้ ใครเกี่ยวข้องก็ต้องว่ากันไป เบื้องต้นถ้ามีมูลผู้บริหารระดับสูง อาจจะย้ายไปสำนักนายกฯ ระดับเจ้าหน้าที่ ให้ย้ายออกจากกพื้นที่ หรือระดับผู้มีอิทธพลถึงเป็นระดับล่างก็ให้ย้ายไปสำนักนายกฯ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป โดยจะต้องมาดูรายละเอียดว่า เกี่ยวข้องแค่ไหน ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกคน จากนั้นตั้งกรรมการสอบสวนวินัย ขึ้นอยู่กับว่า สอบสวนวินัยระดับใด ถ้าสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ตามมาตรการ คสช. กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน ถ้ามีมูลจริง รมว.ศึกษาธิการ หรือผู้บังคับบัญชาสามารถให้ออกจากราชการไว้ก่อนได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าเบื้องต้นมีผู้เกี่ยวข้องกี่ราย นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ แต่มีผู้เกี่ยวข้องทั้งผู้ที่ยังรับราชการอยู่ และเกษียณอายุราชการไปแล้ว แต่เรื่องนี้เป็นคดีอาญา ถึงเกษียณอายุราชการไปแล้วก็ไม่พ้นคดีทุจริต
สำหรับกรณีการสืบสวนข้อเท็จจริงการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตนั้น รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่า นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง จะรายงานความคืบหน้าในการประชุมผู้บริหาร ศธ. วันที่ 19เม.ย.นี้
ด้านนายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัด ศธ. กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้เข้ามาดูแลการเช่าสัญญา Moenet ซึ่งในปีแรกที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ เจ้าหน้าที่พัสดุ ได้เสนอให้มีการต่อสัญญากับบริษัท ที่เช่าซื้อสัญญาณ เป็นเวลา 2 เดือน ก่อนที่จะเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ต่อมา พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะรมว.ศึกษาธิการ ขณะนั้น มีนโยบายให้บูรณาการการใช้อินเตอร์เน็ต ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงให้มีการต่อสัญญากับบริษัทเดิมออกไปอีก 3 เดือน ก่อนเปิดจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ทำให้ระยะเวลาเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตลดลง เหลือเพียง 7 เดือน จึงไม่มีบริษัทอินเตอร์เน็ตรายอื่นเข้าร่วมประมูล ทำให้ในปีแรกต้องเช่าซื้อสัญญาณอินเตอร์เน็ตจากรายเดิม แต่ปี 2560 ตนเองตั้งใจแล้วว่าต้องเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบอย่างถูกต้อง เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัสดุ ซึ่งเป็นข้าราชการระดับ8 มาขอให้ต่อสัญญาอีก ตนจึงส่งเรื่องกลับ โดยขอให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างอย่างถูกต้อง แต่เจ้าหน้าที่พัสดุกลับไม่ดำเนินการตามและขอให้ตนเซ็นต่อสัญญาแบบที่ผ่านมา
“เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวไม่ทำตามที่ผมสั่งการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ ปล่อยให้เวลาล่วงเลย และจะมาบีบให้ผมเซ็นต์สัญญาเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งครั้งนั้นเพราะมีนโยบายให้บูรณาการการใช้อินเตอร์เน็ต จึงต้องต่อสัญญาไปก่อน แต่ปีนี้ไม่ใช่ และผมเองอยากให้มีการทำตามระเบียบ พอผมไม่ยอมเซ็น เจ้าหน้าที่รายดังกล่าว ก็ขู่ว่า ผมจะทำให้โรงเรียนกว่า 3หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ และโรงเรียนจะเดินขบวนมาเรียกร้อง แต่ผมก็ยืนยันคำเดิม เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวจึงนัดบริษัทเช่าซื้อสัญญาอินเตอร์เน็ตให้เข้าพบผม เพราะเข้าใจว่าที่ไม่ยอมเซ็นเพราะต้องการเรียกเงิน ทั้งที่ความจริงแล้ว ผมต้องการให้ทำตามระเบียบที่ถูกต้อง เมื่อได้พบและพูดคุย ผมเองได้ชี้แจงข้อมูลให้ทางบริษัท และเจ้าหน้าที่พัสดุ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของ ศธ. เข้าใจ ว่าต้องการให้ดำเนินการตามระเบียบ จากนั้นจึงมีการเสนอสินบน โดยบอกว่า ถ้ายอมเซ็นจะให้ 7% เจ้าหน้าที่คนเดิมยังบอกอีกว่า ให้ผมรับ เพราะปลัด ศธ.คนเก่า ๆ ก็เคยรับ ซึ่งผมไม่รู้ว่าเป็นใคร และเคยรับจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ ส่วนจำนวนเงินที่เสนอจะเป็นเท่าไรนั้น ผมไม่สนใจ เพราะไม่ได้จะรับและไม่คิดจะทุจริต”
นายประเสริฐ ยอมรับว่าช่วงนั้นกังวลมาก เพราะห่วงว่าโรงเรียนจะไม่มีอินเตอร์เน็ตใช้ จึงแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ นพ.ธีระเกียรติ รับทราบ และนำมาสู่การตรวจสอบ ส่วนเจ้าหน้าที่พัสดุคนดังกล่าวนั้น ได้ให้ย้ายออกจากงานเดิมแล้ว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ