สายสามัญระดับอำเภอ-สายอาชีวะระดับจังหวัด/ครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 2.5 แสนบาทต่อปี ไม่ต้องสอบดูเกรด3อัพ+O-NET+V-NET/ปลุกสำนึกเรียนจบใช้ทุน
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน(โอดอส) ที่มี ปลัด ศธ.เป็นประธาน ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการโอดอสในรุ่นที่ 5 โดยมีตนเป็นประธานนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานได้มีการประชุมแล้วได้ข้อสรุปเป็นหลักการเบื้องต้นว่า โครงการโอดอส รุ่นที่ 5 จะมีนักเรียนทุน หรือผู้รับทุนที่จะเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ 2 สาย คือ สายพื้นฐานหรือสายสามัญ และสายอาชีวศึกษา
โดยในส่วนของสายสามัญ มีหลักเกณฑ์สำคัญคือ ต้องมีภูมิลำเนาหรือเรียนในอำเภอนั้นอย่างน้อย 3 ปี ครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 2.5 แสนบาทต่อปี มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 3 ขึ้นไป ยื่นใบสมัครที่โรงเรียนที่เรียนอยู่ โดยให้ระบุสาขาที่จะเรียนและประเทศตั้งแต่ตอนยื่นสมัคร ส่วนการคัดเลือกให้คณะกรรมการสถานศึกษา เป็นผู้ดำเนินการคัดกรองเบื้องต้น โดยไม่ต้องสอบแข่งขันแต่จะพิจารณาจากคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) ที่เท่ากับหรือสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับชาติ และ ศธ.จะตั้งคณะกรรมการกลาง ลงไปสัมภาษณ์เพื่อคัดเลือกในขั้นตอนต่อไป
ดร.ชัยยศ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสายอาชีวศึกษา จะใช้หลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกัน คือมีภูมิลำเนาหรือเรียนอาชีวศึกษาในจังหวัด เพราะสายอาชีวศึกษาจะเป็นตัวแทนของจังหวัดไม่ใช่อำเภอ ครอบครัวมีรายได้น้อยกว่า 2.5 แสนบาทต่อปี มีผลการเรียนเฉลี่ยสะสม 3 ขึ้นไป ยื่นใบสมัครที่วิทยาลัยที่เรียนอยู่ โดยให้ระบุสาขาพร้อมประเทศที่ต้องการเรียนซึ่งเป็นสาขาที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ 3 สาขา ไม่ต้องสอบแข่งขัน แต่จะพิจารณาจากคะแนนทดสอบทางการศึกษาระดับชาติ ด้านอาชีวศึกษา(V-NET) ที่เท่ากับหรือสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับชาติ คัดกรองเบื้องต้นโดยสถานศึกษา และมีการตั้งคณะกรรมการคัดเลือกจากส่วนกลางไปสัมภาษณ์เหมือนกัน
“เมื่อได้รายชื่อเด็ก ที่จะได้รับทุนจากแต่ละสายมาแล้ว จะมีการจัดอบรมเพื่อเตรียมความด้านภาษาของประเทศนั้น ๆ อย่างน้อย 3 เดือน และเมื่อเด็กเดินทางไปต่างประเทศแล้ว ยังมีสิทธิที่จะเรียนภาษาเพิ่มเติมก่อนที่จะเข้าเรียนได้อีก 1 ปี ซึ่งในส่วนของสายอาชีวะนั้นคณะทำงานเสนอว่า
สำหรับรุ่นที่ 5 นี้อาจไปเรียนแค่อบรมความรู้เพิ่มเติม ระยะสั้น 1-2 ปี ไม่ต้องไปเรียนระดับปริญญาตรีก็ได้ พร้อมกันนี้ยังเปิดโอกาสให้เด็กที่เรียนด้วยรูปแบบทวิศึกษา สามารถสลับมาสมัครรับทุนในสายอาชีวศึกษาได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ ได้ให้ข้อคิดว่า ควรสร้างความตระหนักให้เด็กที่จะได้รับทุนในรุ่นใหม่ ว่าจะต้องกลับมารับใช้ประเทศ เพราะเงินที่ใช้ไปเป็นเงินภาษีของประชาชน และสาขาที่ไปเรียนก็เป็นสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ ซึ่ง ศธ.จะต้องประสานให้สถานทูต หรือสถานกงสุล ซึ่งเป็นผู้ดูแลนักเรียนไทยในต่างประเทศดูแลนักเรียนและรายงานกลับมาเป็นระยะถี่ขึ้น รวมถึงจะจัดให้มีการแนะแนวก่อนจบการศึกษาด้วยว่า เมื่อจบแล้วมีบริษัท หรือสถานประกอบการใดที่สามารถไปสมัครงานได้บ้าง”
ดร.ชัยยศ กล่าวและว่า คณะทำงานจะนำเสนอร่างหลักเกณฑ์นี้ต่อ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. ฐานะประธานคณะอนุกรรมการโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน เพื่อพิจารณาก่อนเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ