สอดรับนโยบายรัฐเชื่อมโยงงานระดับพื้นที่-ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี “ชัยพฤกษ์” ย้ำงบฯ อุดมศึกษาต้องเชื่อมกับการผลิตบัณฑิต และสอดคล้องสาขาขาดแคลน
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของ ศธ. โดยมี พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ได้หารือถึงการเตรียมการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ2562ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งกำหนดการจัดทำแผนออกเป็น 2ระยะ ดังนี้ ระยะเร่งด่วน การจัดทำแผนในระดับพื้นที่ แบ่งเป็นแผนระดับภูมิภาค และแผนระดับจังหวัด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับบทบาทของสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) โดยต้องร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักบริหารงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ จัดทำแผนพัฒนาการศึกษาที่ตอบสนองความต้องการของพื้นที่ โดยจะต้องเป็นแผนบูรณาการที่เชื่อมต่อกันในระดับจังหวัดและภูมิภาค ซึ่งต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนก.ย.60 และระยะที่ 2จัดทำแผนที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี โดยเน้นจัดทำแผนบูรณาการที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติทั้ง6 ด้าน ซึ่งต้องแล้วเสร็จในเดือน ต.ค.นี้
“คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) และ ศธภ.จะเป็นแกนหลักในการทำงานเรื่องนี้ ถือเป็นภารกิจเร่งด่วน แต่โดยหลักการทำงานกระทรวงศึกษาฯ จะเน้นการบริการโอกาสทางการศึกษาของนักเรียนให้ทั่วถึง ทั้งการศึกษาของเด็กอนุบาล3ขวบ การเข้าเรียนชั้น ม.1การเรียนต่อชั้น ม.ปลาย สายสามัญและสายอาชีพ ที่ต้องตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ตลอดจนคุณภาพผู้เรียน ทั้งนี้ ในส่วนการตั้งงบประมาณ ปี 2562ของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ที่ประชุม ครม.ได้ฝากด้วยว่าขอให้คำนึงถึงตัวชี้วัดในการผลิตที่สอดคล้องกับสาขาที่เป็นที่ต้องการของประเทศด้วย”
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม การจัดทำแผนปฏิบัติงานของปีงบประมาณ 2561 กระทรวงศึกษาฯ จะวางแผนล้อไปกับนโยบายของรัฐบาลให้สอดรับกับการของบประมาณปี 2562 ที่แบ่งเป็นระดับพื้นที่ และระดับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้การทำงานเชื่อมโยงกัน
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ครม.ได้มอบหมายให้ ศธ.เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ DE ทำการสำรวจข้อมูลผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยส่งนักศึกษาในสังกัด สอศ.และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 70,000 คน รวมถึงครูและบุคลากรทางการศึกษา2,380คน ลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูลโดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ