สมาคมฯการศึกษาเอกชน ชงจัดพิมพ์หนังสือยืมเรียนตามธรรมชาติของรายวิชา อย่าง “พละ-อังกฤษ” ไม่จำเป็นต้องมีตำราหลัก เน้นฝึกปฏิบัติใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์จัดสอนได้..แนะใช้กระดาษถนอนสายตา-แบบฝึกหัดให้เด็กขีดเขียนได้ จัดซื้อทดแทนทุกปี “ชัยพฤกษ์” ประสาน สพฐ. สช. อาชีวะ และกศน.วางแนวทางดำเนินการรับปี 2561 ส่วนงบฯ หนังสือเรียนฟรี ที่เหลือให้นำสนับสนุนพัฒนาการสอนต่อ
วันที่ 23 ก.พ.60 นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้นายศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้เข้าหารือกับตนถึงแนวทางการดำเนินการตามนโยบายหนังสือยืมเรียน โดยทางสมาคมฯ เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และมีข้อแนะนำถึงการดำเนินการว่าควรแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนังสือยืมเรียน ควรจัดพิมพ์อย่างดีไม่ให้ฉีกขาดง่าย และใช้กระดาษถนอมสายตา ส่วนแบบฝึก ควรจัดพิมพ์ระดับปานกลาง อนุญาตให้นักเรียนสามารถขีด เขียน คำตอบลงในแบบฝึกหัดได้ และขอให้ซื้อใหม่ทดแทนปีต่อปี และยังเห็นว่าบางวิชาไม่จำเป็นต้องมีหนังสือเรียน อาทิ วิชาพลศึกษา ซึ่งเน้นการปฏิบัติจริง หรือบางวิชาสามารถใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนหนังสือเรียนได้ อาทิ ภาษาอังกฤษ การงานและพื้นฐานอาชีพ เป็นต้น
ดังนั้น การจัดพิมพ์หนังสือยืมเรียนควรพิจารณาตามธรรมชาติของแต่ละรายวิชา ซึ่งถือเป็นแนวคิดที่ดี ตนจึงมอบหมายให้สำนักนโยบายและแผน สำนักงานปลัด ศธ. หารือร่วมกับ สพฐ. สช. อาชีวศึกษา และสำนักงาน กศน. เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายให้ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา
ปลัด ศธ. กล่าวต่อว่า ในส่วนของงบฯ สนับสนุนหนังสือยืมเรียนปีงบประมาณ 2561 เบื้องต้นจะเสนอตามกรอบงบฯ เดิม ตามโครงเรียนฟรีเรียนดี 15 ปี อย่างมีคุณภาพ ส่วนค่าใช้จ่ายหนังสือเรียนฟรี ประมาณ 8,177 ล้านบาท แบ่งเป็น สพฐ. 5,125 ล้านบาท, อาชีวศึกษา 1,425 ล้านบาท, การศึกษาเอกชน1,249 ล้านบาท และ กศน. 378 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินการจากหนังสือเรียนฟรี มาเป็นหนังสือยืมเรียน แต่ รมว.ศึกษาธิการ ไม่มีนโยบายที่จะโอนงบฯ ที่เหลือไปทำอย่างอื่น แต่ให้บริหารจัดการงบฯ ที่เหลืออยู่ไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนส่วนอื่นต่อไป
“ผมขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งวางแนวทางการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นวิธีการยืมหนังสือ จะให้นักเรียนนำกลับบ้านหรือไม่ จะให้ยืมเรียนในระดับชั้นใดบ้าง เพราะหากเด็กเล็กเกินไปอย่างอนุบาล หรือประถมต้น อาจยังไม่เหมาะที่จะให้หนังสือยืมเรียน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เอกชน และองค์การค้าฯ ได้วางแผนการทำงาน เพื่อให้เริ่มดำเนินการได้ภายในปีการศึกษา 2561″ปลัด ศธ.กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ