ศธ.เร่งสรุปผลสอบโกงทุนเสมาฯ คาดไม่เกินสงกรานต์นี้
วันที่ 28 มี.ค.2561 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ซึ่งพบความเสียหายมูลค่าความเสียหายแล้วกว่า 100 ล้านบาท ล่าสุดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีมติไล่ออก นางรจนา สินที อดีตนักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ สำนักกิจการการศึกษา รวมถึงให้ตรวจสอบเส้นทางการเงิน โดยเชื่อว่า นางรจนา ไม่ได้ทำคนเดียว ว่าตนได้เชิญนายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง มาสอบถามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งตัวเลขความเสียหายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 118 ล้านบาท แต่ต้องย้ำว่าตัวเลขความเสียหายที่เกิดขึ้นยังไม่นิ่ง เพราะมีการหมุนเงินไปจ่ายให้กับคนที่ไม่ได้รับทุนบางส่วน ทั้งนี้ สิ่งที่ตนให้ความมั่นใจได้ คือกระบวนการซึ่ง ศธ.ได้ดำเนินการตามมาตรการปราบปรามและป้องปรามการทุจริต ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเคร่งครัด การที่นางรจนา ไม่ซัดทอดใคร ทำให้ ศธ. ต้องหาหลักฐานว่ามีการเชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง
โดยขณะนี้ความคืบหน้าในการสอบสวนถือว่ามีความก้าวหน้าไปไกลมาก โดยนายอรรถพล คาดว่าจะสามารถสรุปผลการสืบสวนข้อเท็จจริงได้ไม่เกินช่วงสงกรานต์ หรือภายในเดือน เม.ย.2561 ซึ่งเท่ากับว่าเหลือเวลาอีกไม่ถึง 30 วัน ก็จะสามารถสรุปข้อเท็จจริงได้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่สามารถสรุปได้ 100% แต่เห็นความหละหลวมของระบบชัดเจนโดยเห็นได้จาก ข้อมูลที่พบว่ามีการโอนเงินผ่านระบบ GIRO ของธนาคารกรุงไทย ซึ่งไม่มีชื่อบัญชี มีแต่เลขที่บัญชี บางครั้งนางรจนา ส่งเอกสารการเบิกจ่ายเงินให้ปลัด ศธ. หรือรองปลัด ศธ. ที่รับผิดชอบเซ็นโดยตรง บางครั้งดำเนินการตามขั้นตอนการชงเรื่องเข้าที่ประชุม หรือส่งเรื่องให้ปลัด ศธ.อนุมัติเบิกจ่ายเงินกองทุนฯ แต่ละคนก็เซ็นอนุมัติไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น ปลัด ศธ. อนุมัติเฉพาะการใช้วงเงินตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ แต่ไม่เซ็นอนุมติการเบิกจ่าย เพราะได้มอบอำนาจให้ ผอ.กองคลัง สป. แล้ว เรื่องนี้มีความหลากหลายของวิธีปฏิบัติ รวมทั้งผู้ที่ดูแลกองทุนฯ นี้ 10 ปีมีหลายคน ดังนั้นการจะหาข้อมูลเชื่อมโยงจึงเป็นเรื่องยาก เพราะหากนางรจนา ทำงานอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งเป็นเวลานาน ถึงแม้ไม่ซักทอด ก็อาจจะมีหลักฐาน ที่สามารถเชื่อมโยงไปได้บ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการตรวจสอบธนาคารกรุงไทย กรณีที่ให้มีการโอนเงินโดยที่ไม่ระบุชื่อบัญชี เพราะถือเป็นความหละหลวมหรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า การโอนเงินดังกล่าวเป็นระบบที่ใช้ในราชการอยู่แล้ว เหมือนกับการโอนเงินเดือน ซึ่งก็ใช้ระบบนี้ แต่ก็ยอมรับว่า ธนาคารมีความหละหลวม เพราะปัญหาที่พบคือ ไม่มีระบบที่แจ้งกลับมาว่า เด็กได้รับเงินทุนหรือไม่ เด็กก็รอ พอไม่ได้รับเงินบางคนก็ร้องเรียน พอร้องเรียนก็มีการโอนเงินให้แต่ยังไม่ทราบว่า เด็กร้องเรียนทางช่องทางใด และหัวหน้างานของนางรจนา รับรู้หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่า ปลัดศธ. บางท่านมีคำสั่งให้ตักเตือน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบว่า เชื่อมโยงไปถึงใครบ้าง
เมื่อถามต่อว่า การสืบสวนความผิดทางละเมิด จะเชื่อมโยงไปถึงธนาคารที่รับผิดชอบโอนเงินกองทุนฯ หรือไม่ นพ.ธีระเกียรติ กล่าวว่า กฎหมายละเมิด เป็นเรื่องของคำสั่งทางปกครอง ซึ่งใช้กับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะมีสัดส่วนการรับผิด ส่วนกรณีของธนาคาร คงใช้กฎหมายนี้ไม่ได้ แต่ถ้าธนาคารมีส่วนรู้เห็นกับเรื่องนี้ด้วย ก็ต้องว่ากันตามกฎหมาย แต่ตอนนี้จะไปบอกว่าธนาคารประมาทเลินเล่อคงไม่ได้ เพราะเขาดำเนินการตามที่ ศธ. ส่งข้อมูล เท่ากับว่า ความประมาทเลินเล่อ เริ่มต้นมาจากคนใน ศธ. อย่างไรก็ตามทราบว่า นายอรรถพล ได้ติดต่อขอข้อมูลจากทางธนาคารไปแล้ว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ