ค้างชำระล้านคน-ผู้กู้ต้องเซ็นยินยอมให้นายจ้างหักเงิน
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการที่พระราชบัญญัติกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27ม.ค.60 ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับ ศธ.ตามกฎหมายใหม่ ได้มีการยกเลิกคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 1และคณะอนุกรรมการบัญชีจ่ายที่ 2โดยให้มีคณะอนุกรรมการกำกับและประเมินสถานศึกษา ที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุน โดยมีปลัด ศธ.เป็นประธาน มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง และผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน เป็นกรรมการ ซึ่งอนุกรรมการฯชุดนี้ จะทำหน้าที่กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ดูแลสถานศึกษา และให้ข้อเสนอแนะแก่คณะกรรมการบริหารกองทุน กยศ.ทำให้ ศธ.มีบทบาทมากขึ้นในการกำหนดมาตรฐานในการเลือกสถานศึกษา กำหนดมาตรฐานในการดูแลเด็กที่กู้ยืม ตลอดจนสาขาวิชาที่จะให้กู้ยืม
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า พระราชบัญญัติกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2560 ฉบับนี้จะช่วยให้ กยศ. สามารถขอข้อมูลหน่วยงานต่างๆ เพื่อติดตามทวงหนี้ โดยเฉพาะผู้กู้ยืมที่ไม่ชำระหนี้ได้ ซึ่งขณะนี้มีผู้ค้างชำระหนี้ กยศ.ประมาณ 1 ล้านคน ตลอดจนกรมสรรพากร สามารถแจ้งให้นายจ้างหรือผู้บังคับบัญชา หักเงินเดือนของผู้กู้เพื่อชำระหนี้ได้ ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะทำให้การชำระหนี้มีประสิทธิภาพ มีเงินหมุนเวียนกลับเข้ากองทุนมากขึ้น ซึ่งการกู้ยืมตามกฎหมายฉบับใหม่นี้ ผู้กู้จะต้องเซ็นยินยอมให้หักเงินชำระหนี้ด้วย
ทั้งนี้ ศธ.จะเร่งสร้างความรู้ ความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ให้แก่ครู อาจารย์ สถานศึกษา ตลอดจนนิสิต นักศึกษา และนักเรียนได้รู้ว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง ทั้งเรื่องการกู้ยืมเงิน กยศ.และกองทุนเงินให้กู้ยืมที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ว่าควรปฏิบัติตนก่อน ระหว่าง และหลังกู้ยืมเรียนอย่างไรบ้าง โดยจะเน้นเป็นพิเศษ เรื่องความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ