เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้ชี้แจงคำของบประมาณ ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 วาระที่ 1 ต่อสภาผู้แทนราษฎรไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ นั้น ในการจัดทำคำของบประมาณ มีเป้าหมายเพื่อปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ ซึ่งหมายความว่า ต้องเร่งดำเนินการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครั้งใหญ่ โดยจะต้องมีการรื้อหลายเรื่อง ทั้งเรื่องหลักสูตร เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ปัญหาขาดแคลนครู ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อให้การศึกษาไทยปรับตัวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการบริหารการศึกษามากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ตอบโจทย์นโบาย เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตร ที่จะต้องนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ในเรื่องการจัดทำแพลตฟอร์ม เนื้อหาวิชาต่างๆ รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ให้กับนักเรียนด้วย
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับงบประมาณที่จัดทำคำขอไป เพื่อมาดำเนินการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งส่วนตัวเข้าใจว่า หลายฝ่ายมีความห่วงใยเรื่องความโปร่งใส ในการใช้จ่ายงบประมาณ ในส่วนของศธ. เองพยายามดำเนินการให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้มากที่สุด ซึ่งโครงการ anywhere anytime มีการจัดสรรอุปกรณ์ให้กับนักเรียนและครูกว่า 600,000 เครื่อง เป็นโครงการนำร่อง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนขยายโอกาส เพื่อให้มีทั้งตัวอย่างของโรงเรียนที่มีความพร้อมที่สามารถบริหารจัดการได้ และโรงเรียนที่อาจจะยังไม่มีความพร้อมเรื่องการบริหารจัดการ เพื่อนำมาเปรียบเทียบ และหาวิธีการที่เหมาะสม
“มีผู้อภิปรายว่า ทำไมแจกเพียง 6 แสนเครื่อง และเน้นโรงเรียนที่อยู่ในโครงการโรงเรียน 1 อำเภอ1 โรงเรียนคุณภาพ ซึ่งค่อนข้างมีความพร้อม อาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำนั้น หากมีงบประมาณเพียงพอ ศธ. ก็อยากดำเนินการให้ครอบคลุม แต่ขอย้ำว่า การแจกอุปกรณ์การเรียน เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวัง ดังนั้นจึงต้องมีการนำร่อง เพื่อดูแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งโรงเรียนคุณภาพ มีทั้งโรงเรียนที่มีความพร้อม และโรงเรียนที่ยังไม่มีความพร้อม ที่กระจายอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ก็เชื่อว่า มีตัวอย่างให้มีการเปรียบเทียบ เพื่อดำเนินโครงการตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม ซึ่งเรื่องการจัดหาอุปกรณ์การเรียน เชื่อว่าไม่มีปัญหา แต่สิ่งที่ไม่สบายใจ คืองบจัดทำแพลตฟอร์ม เนื้อหาในการเรียนการสอน ที่ถูกตัดไปค่อนข้างมาก และเป็นส่วนที่ศธ. คิดว่า สำคัญที่สุด หากถูกตัดไป ก็อาจกระทบกับการดำเนินการจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ โดย ศธ. ได้ขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ทุกที่ทุกเวลา จำนวน 7,644,068,100 บาท ได้รับการจัดสรรเพียง 3,395,466,600 บาท ถูกตัดออกไปจำนวน 4,148,601,500 บาท ซึ่งงบถูกตัดไปส่วนใหญ่ จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำแพลตฟอร์มและเนื้อหาการเรียน ซึ่งไม่ได้ทำแค่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 เหมือนอย่างการนำร่องแจกอุปกรณ์การเรียนเท่านั้น แต่ทำครอบคลุมทุกระดับชั้น ดังนั้นหากถูกตัดไปก็อาจทำให้การดำเนินการมีปัญหา“ นายสุรศักดิ์ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ศธ. คงต้องขอแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ (กมธ. )เพื่อของบส่วนดังกล่าวกลับคืนมา ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับการจัดสรรคืนมาจำนวนเท่าไร แต่อยากให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญ เพราะวันนี้ทุกคนเห็นแล้วว่า การศึกษาจะช่วยแก้ปัญหาประเทศได้
ด้าน ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า หากถูกปรับลดงบประมาณในส่วนของการจัดทำเนื้อหาการเรียนรู้ เพื่อบรรจุไว้ในแพลตฟอร์มจริง ก็อาจจะทำให้กระต่อการดำเนินการไม่เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ สำหรับการจัดทำเนื้อหาการเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ใช่เฉพาะชั้นม.4-6 ตามที่จะมีการนำร่องแจกอุปกรณ์การเรียนการสอน ซึ่งสพฐ. จะต้องเสนอของบที่ถูกตัดไป กว่า 4 พันล้าน คืนกลับมาในชั้นกมธ. หากไม่ได้ตามที่ขอ ก็จะต้องปรับลดการจัดทำเนื้อหาการเรียนการสอน ให้เหลือเพียงระดับชั้นม.4-6 ตามที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณมา
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวและอ่านเพิ่มเติมได้จาก FOCUSNEWS วันที่ 25 มิถุนายน 2567