ศานนท์ ถอดบทเรียนไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ ทำม็อบ ‘ลงถนน’ บ่นสนั่นโซเชียล
เมื่อวันที่ 29 กันยายน นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นวิทยากรเสวนาในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565 ช่วง Lunch Session หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทย ในมุมมองคนรุ่นใหม่” ที่ห้องภัทรรวมใจ ธนาคารแห่งประเทศไทย เขตพระนคร กทม.
นายศานนท์กล่าวว่า หากพูดในนามของกรุงเทพฯ หรือเมือง สิ่งสำคัญที่สุดของเมืองคือ คน เป้าหมายของเมืองคือการดึงคนเก่ง ๆ หรือคนรุ่นใหม่ให้ยังอยู่กับเมือง คงน่าเศร้าหากคนเก่ง ๆ ในเมืองออกไปเรียนต่างประเทศแล้วเลือกที่จะอยู่ในเมืองอื่นโดยไม่กลับมาช่วยกันพัฒนาเมือง ดังนั้น สิ่งที่เมืองต้องทำให้ได้คือการสร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ ให้ยังอยากอยู่กับเมือง หรือมีความรู้สึกว่าอยากทำให้ที่นี่มันดีขึ้น
นายศานนท์ กล่าวว่า หากมองในขอบเขตของกรุงเทพมหานคร เศรษฐกิจในมหภาค ค่อนข้างมีหลายอุตสาหกรรมที่สู้กับประเทศต่าง ๆ ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่เส้นเลือดฝอย
“เราต้องมองว่าเศรษฐกิจต่าง ๆ จะกระจายสู่ประชาชน ชุมชน คนรากหญ้าได้อย่างไร ซึ่งเรื่องนี้แม้เป็นความท้าทายในระดับเส้นเลือดฝอยแต่ก็กระจายทั่วทั้งเมือง เราจะเห็นว่าหลายย่านในกรุงเทพฯ ซบเซาลงหลังจากสถานการณ์โควิด เช่น ย่านเมืองเก่า หรือย่านเศรษฐกิจเดิม ปัจจุบันถูกเศรษฐกิจแบบใหม่เข้ามาท้าทายระบบเดิม โดยความท้าทายนี้ไม่ใช่ความท้าทายในระดับปัจเจก แต่เป็นระดับเมืองที่ต้องร่วมกันคิดว่าแต่ละย่าน แต่ละพื้นที่ในกรุงเทพมหานครนั้น เราจะทำอย่างไรให้ล้อกับระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้
เรื่องที่สอง คิดว่าการศึกษาอาจจะตามไม่ทันอุตสาหกรรมในปัจจุบัน เราจะเห็นว่าเด็กยุคใหม่เข้าสู่ระบบสังคมวิถีใหม่ มีการเรียนการสอนและการเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนที่มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ในนั้นแล้ว แต่โรงเรียนหรือระบบการศึกษายังเป็นวิธีการเรียนการสอนแบบเดิม ซึ่งบางวิชาอาจจะต้องมาทบทวนว่ามีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นอุตสาหกรรมในอนาคตหรือเปล่า ในส่วนของทางกทม.ได้มีศูนย์ฝึกอาชีพที่เราพยายามที่จะ Upskill / Reskill ให้กับประชาชน เพื่อให้คนที่มีต้นทุนเดิมสามารถที่จะประกอบอาชีพในอนาคตได้ ก็คิดว่าการศึกษาเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่เราต้องเผชิญ” นายศานนท์กล่าว
นายศานนท์ กล่าวว่า สำหรับประการสุดท้าย คือความเหลื่อมล้ำในเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งปัญหานี้สอดคล้องกับทั้งปัญหาเส้นเลือดฝอยและปัญหาการศึกษา ปัจจุบันการเรียนฟรีเป็นสิ่งสำคัญมากกับหลาย ๆ พื้นที่ในชุมชน ยังมีอีกหลายคนที่ตกหล่น เช่น เกิดมาในครอบครัวที่เข้าถึงระบบการศึกษาไม่ได้ก็จะทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในอนาคตได้ ดังนั้น ความท้าทายในปัจจุบันก็คงจะเป็นปัญหาในระดับเส้นเลือดฝอยที่กระจายอยู่จำนวนมาก แต่ข้อดีคือมีคนรุ่นใหม่อยู่ในนั้น โดยคนรุ่นใหม่ที่เกิดมาในระบบเศรษฐกิจนี้ไม่ได้เดินตามเส้นทางอาชีพแบบเดิม ที่ต้องเรียน ต้องเข้ารับราชการ แต่มีโอกาสอื่น ๆ อาทิ ออนไลน์ ที่ทำให้เขาแสวงหาโอกาสได้มากขึ้น
“การที่เรารู้สึกว่าไม่มีหวังหรือความหวังหายไป เป็นเพราะว่าคนรุ่นใหม่โตมากับการเห็นโอกาสใหม่ที่มีมาก จนรู้สึกว่าผู้ใหญ่ที่อาจจะไม่ทันเทคโนโลยีจะไม่เข้าใจสิ่งที่คนรุ่นใหม่เห็นว่ามันกว้างแค่ไหน ซึ่งมันกว้างจนอธิบายไม่ถูก นี่เป็นสิ่งที่กดทับความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ และในหลาย ๆ เรื่องที่เผชิญนั้น เทคโนโลยีได้เข้ามาทำให้คนรุ่นใหม่อยากที่จะมีส่วนร่วมในการเปิดโอกาสของประเทศหรือของสังคมมากขึ้น สิ่งสำคัญคือเราต้องมีพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนรับฟัง” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ตอบคำถามที่ว่า ความหวังของคนรุ่นใหม่หายไปจริงหรือไม่
รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวต่อไปว่า อีกส่วนหนึ่ง คนที่มาอยู่ในภาคต่าง ๆ มีตัวแทนของคนรุ่นใหม่เยอะขึ้น เช่น ในภาคธุรกิจมีสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เห็นการสเกล เห็น Business Model ใหม่ ๆ โดยเราได้เห็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในแวดวงเศรษฐกิจแล้ว แต่ในแวดวงสังคมหรือการเมืองแทบไม่เคยมีคนรุ่นใหม่อยู่ในนี้เลย จึงเป็นเหตุผลสำคัญมากว่าทำไมเราต้องมีคนรุ่นใหม่อยู่ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายมากขึ้น
“จะเห็นได้ว่าการไม่มีพื้นที่ให้กับคนรุ่นใหม่ในเรื่องของนโยบายที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์การลงบนถนน หรือการเรียกร้องผ่านสังคมโซเชียลมากขึ้น ดังนั้น การสร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมถือเป็นการจุดประกายความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ได้” รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าว
สำหรับบทบาทของแต่ละภาคส่วน (ภาคการเงิน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ) ในการสนับสนุนความหวังของคนรุ่นใหม่ให้เกิดขึ้นได้จริง รองผู้ว่าฯ กทม. ได้กล่าวถึงบทบาทของภาครัฐว่า ภาครัฐต้องอย่าเป็น “อุปสรรค” คือ การเปลี่ยนทัศนคติ (mindset) ก่อน จากเดิมที่มักจะชอบปฏิเสธ “ไม่ (no) / แต่ (but)” จะต้องเปลี่ยนเป็น “ได้ (yes) / และ (and)” เพราะทัศนคติ “ได้/และ” สามารถสร้างกำลังความร่วมมือจากคนได้เยอะมากและสร้างความหวังให้กับคนต่อไปได้
อีกประการหนึ่งคือการกระจายอำนาจแทนการรวมศูนย์ ต้องมีการกระจายอำนาจ ให้อำนาจระดับเขต ระดับแขวง ระดับชุมชน สามารถที่จะบริหารจัดการงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของ SMEs และ SE เพราะเริ่มในระดับชุมชนทั้งสิ้น ปัจจุบันเราได้จัดสรรงบประมาณกระจายลงเขตเพิ่มประมาณ 1,100 ล้านบาท และได้ให้งบประมาณ 2% โดยประมาณ ให้ชุมชนสามารถเสนอสิ่งที่อยากจะปรับปรุงในชุมชนได้ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่พยายามจะกระจายอำนาจให้ชุมชนจัดการตัวเองได้ เพื่อทำให้คนรุ่นใหม่หรือคนที่ยังมีหวังอยู่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำหรือเปลี่ยนแปลงอะไรได้
เรื่องการมีส่วนร่วม ก็เป็นหนึ่งในการสนับสนุนความหวัง เช่น การทำ Open Data ให้คนสามารถตรวจสอบหรือนำข้อมูลไปต่อยอด วิเคราะห์ แสดงผลในรูปแบบต่าง ๆ ได้ แม้อาจดูเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเชื้อเพลิงที่สำคัญมากในการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน
เรื่องที่สี่ที่รัฐต้องทำคือเรื่องการศึกษา หากมองแค่โรงเรียนคงไม่พอ เราต้องมองว่าเราจะทำพื้นที่เรียนรู้ที่อื่น ๆ ให้มากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการเรียนรู้จะปลดล็อกเรื่องความยากจนและเรื่องอื่น ๆ ในอนาคตได้ โดย 3-4 ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่ภาครัฐต้องสนับสนุนต่อไป
นอกจากนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการรับฟังจากภาครัฐ โดยยกตัวอย่าง การนำเทคโนโลยีทราฟฟี่ฟองดูว์เข้ามาเป็นเครื่องมือในการรับฟัง การมีอาสาสมัครเทคโนโลยีเข้าถึงชุมชนต่าง ๆ เพื่อรับฟังและทำความเข้าใจกับชุมชน รวมถึงการดึงกลุ่มสตาร์ทอัพมาร่วม Hack เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้นอีกด้วย