นักวิชาการศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. ระบุเรียนมหาวิทยาลัยฟรี 1 ปี ใช้งบประมาณ 40,000 ล้าน ขอ ‘เรียนฟรี’ เท่าลูกข้าราชการ ชี้ กยศ.ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ ระบุล้างหนี้คือ เปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน ขณะที่พ.ร.บ.กยศ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านในสภาไม่มีความเข้าใกล้การเป็นสวัสดิการ
จากการการเรียกร้องให้มีการล้างหนี้กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งเป็นกระแสโด่งดังบนโลกออนไลน์เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา มีผู้คนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นกับการล้างหนี้ข้างต้น โดยความคิดเห็นเหล่านั้นมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการล้างหนี้ รวมถึงการผลักดันการแก้กฎเกณฑ์การชำระหนี้กยศ.ในสภาที่ได้ข้อสรุปว่าจะไม่มีการเก็บดอกเบี้ยและค่าปรับ นำไปสู่การหาคำตอบของคำถาม “ความเป็นไปได้ที่จะผลักดันให้กยศ.เป็นรัฐสวัสดิการ” โดยการสัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
กยศ.ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ
ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า กยศ.ไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่กยศ. คือ กระบวนการการที่รัฐผลักดันให้คนรับผิดชอบชีวิตตัวเองโดยรัฐอำนวยความสะดวกให้ผ่านการกู้ที่มีดอกเบี้ยและค่าปรับ โดยสิ่งที่ศูนย์วิจัยรัฐสวัสดิการพยายามเสนอ คือ การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี
‘เรียนฟรี’ เท่าลูกข้าราชการ
ษัษฐรัมย์กล่าวต่อว่า การเรียนมหาวิทยาลัยฟรีฟังแล้วดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วสวัสดิการสำหรับข้าราชการสามารถให้ลูกข้าราชการเรียนฟรีได้ภายใต้เงื่อนไขค่าใช้จ่ายในการศึกษาปีละ 25,000 บาท ตนจึงลองเสนอว่าบันไดขั้นแรกสู่การเรียนมหาวิทยาลัยฟรี คือการให้นักศึกษาที่ไม่ใช่ลูกข้าราชการมีสิทธิ์เท่าลูกข้าราชการ โดยตนคำนวณแล้วว่ามีค่าใช้จ่ายในหนึ่งปีประมาณ 40,000 ล้านบาท
ล้างหนี้กยศ.คือ เปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน
หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. กล่าวว่าต่อมาขั้นที่สอง คือ การล้างหนี้กยศ. โดยกระบวนการล้างหนี้กยศ.ที่เคยเสนอไปสามารถปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนหนี้ให้เป็นทุน เช่นการล้างหนี้กยศ.ในนอร์เวย์ที่มีการล้างหนี้ให้นักศึกษาหลังเรียนจบ 40% โดยไทยสามารถนำรูปแบบข้างต้นมาใช้ได้ อาทิ เป็นหนี้ 200,000 บาท ล้างหนี้ให้ 40% หรือ 80,000 บาท อีก 120,000 บาท หรืออีก 60% ให้วางเงื่อนไขการใช้หนี้ เช่น ทำงานในสื่อสารมวลชน หรือธุรกิจที่ไม่แสวงหากำไร การทำ SME ที่มีการจ้างแรงงานเพิ่ม ก็ยกหนี้อีก 60% ให้กับผู้กู้ โดยงบประมาณในการล้างหนี้ 40% อยู่ที่ประมาณแสนล้านบาท คิดเป็น 3% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ
“ประเทศนี้มีทหาร 400,000 คน จ่ายบำนาญให้ทหารเกษียณปีละ 20,000 ล้านเป็นอย่างต่ำ ระหว่างให้เด็กได้เรียนหนังสือ ให้เด็กหมดหนี้ กับการมีกองทัพขนาดใหญ่ขนาดนี้ การยกเว้นภาษีให้กลุ่มทุนมากมาย ทำไมเราไม่สามารถที่จะคิดเรื่องนี้ได้ ผมเชื่อว่าสังคมตอนนี้ก็มีสติแล้วก็ฟังมากขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นขั้นตอนที่เป็นไปได้ ผมยืนยัน” ษัษฐรัมย์กล่าว
พ.ร.บ.กยศ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านในสภาไม่มีความเข้าใกล้การเป็นสวัสดิการ
หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. แสดงความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับล่าสุดที่เพิ่งผ่านในสภาว่ายังไม่เข้าใกล้ความเป็นรัฐสวัสดิการ ยังคงเป็นการกู้ที่ไม่คิดดอกเบี้ย แต่ก็เป็นเส้นทางที่ดี แต่ยังคงไม่เข้าใกล้แนวคิดการศึกษาฟรี ประชาชนต้องช่วยกันเรียกร้องและกดดันพรรคการเมืองต่าง ๆ ให้ออกมาพูดและสนับสนุนความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดการเรียนฟรี
“เราต้องกดดันพรรคการเมืองให้กล้าพูดเรื่องนี้ ว่าไม่ควรมีใครเป็นหนี้จากการมีความฝัน” หัวหน้าศูนย์วิจัยการเรียนรู้รัฐสวัสดิการ มธ. กล่าวทิ้งท้าย
สภาผ่านร่างพ.ร.บ.กยศ. ไม่เก็บดอกเบี้ยและค่าปรับ
14 ก.ย. 65 การประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มี ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภา ในการประชุมวาระที่ 4 เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินทุนให้กู้ยืมการศึกษา ฉบับที่… พ.ศ.…มีการกล่าวถึงการประชุมเมื่อ 31 ส.ค. 2565 ที่ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับข้างต้น มีการแก้ไขมาตรา 44 ที่ประชุมเห็นชอบการแก้ไขมาตรา 44 ในเนื้อหา แต่เนื่องจากมีผู้สงวนมติหลายท่าน จึงให้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติใหม่ในครั้งนี้ (14 ก.ย. 65) โดยมีการสงวนความเห็นจำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่
-
กลุ่มที่ 1 ของอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้มีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับ
-
กลุ่มที่ 2 ของประกอบ รัตนพันธ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะสงวนความเห็นให้มีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และกำหนดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี
-
กลุ่มที่ 3 ของชุมพล นิติธรางกูร ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย และนายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุน กยศ. สงวนความเห็นให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 2 ต่อปี และกำหนดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี หรือตามร่างพ.ร.บ.กยศ.ฉบับเดิม
-
กลุ่มที่ 4 ของณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมคณะ สงวนความเห็นให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยไม่เกินอัตราร้อยละ 1 ต่อปี และกำหนดเบี้ยปรับไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี แต่ให้เริ่มชำระเมื่อผู้กู้ยืมมีเงินได้พึงประเมินเพียงพอจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภายในระยะเวลา 30 ปี หรือมอบทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดแทนการชำระเงินกู้ยืมตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด
-
โดยกลุ่มที่ 5 ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และกลุ่มที่ 6 ของซูการ์โน มะทา ส.ส.ยะลา พรรคประชาชาติ ขอถอนความเห็น
ผลการประชุมในครั้งนี้คือความเห็นกลุ่มที่ 1 ของอุบลศักดิ์ บัวหลวงงาม ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ที่มีความเห็นให้มีการแก้ไขให้ผู้กู้ยืมเงินชำระเงินคืนโดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีเบี้ยปรับได้รับเสียงเห็นชอบมากที่สุด ด้วยคะแนน 218 ต่อ 109 งดออกเสียง 53 ไม่ออกเสียง 1 เสียง
เสียงแตก กยศ.คือกองทุนหมุนเวียนถ้าไม่เก็บดอกเบี้ยไม่ได้
ขณะเดียวกันสาทิตย์ วงศ์หนองเตยที่ไม่เห็นด้วยกับการไม่เก็บดอกเบี้ยกยศ.แสดความคิดเห็นเกี่ยวกับการการชำระเงินกยศ.คืนโดยไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย และจ่ายค่าปรับล่าช้า โดยประชาไทรายงานในข่าวสภาผู้แทนฯ เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.กยศ. ให้การกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย-ไม่คิดค่าปรับ เผยแพร่เมื่อ 14 ก.ย. 2565 ว่าสำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรค้างการพิจารณาอยู่ ว่า เมื่อต้นเดือนนี้ที่ประชุมสภาฯลงมติไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมาธิการเสียงข้างมาก ที่กำหนดให้จัดเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 0.25 โดยเห็นด้วยกับเสียงข้างน้อย ซึ่งเสียงข้างน้อยมีความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 3 แนวทาง คือ 1.ไม่เก็บดอกเบี้ย 2.ให้จัดเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 1 และ 3. อื่นๆ ดังนั้น วันนี้(14 ก.ย.) วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านต้องหารือกันถึงทางออกว่าจะเห็นด้วยกับแนวทางใด
“ในที่ประชุมของพรรคประชาธิปัตย์ได้พูดคุยกันเรื่องนี้และแสดงถึงความวิตกว่าหากถือเอาความถูกใจอย่างเดียว แต่ลืมไปว่ากยศ. คือกองทุนหมุนเวียน จึงจำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียน เพื่อให้เด็กได้กู้ยืมต่อไปได้ ถ้ายกเลิกดอกเบี้ยไปแล้ว กองทุนนี้ก็จะไม่เป็นกองทุนหมุนเวียน ซึ่งจะเป็นปัญหามาก ดังนั้น จุดยืนของพรรคคือต้องให้กองทุนกยศ.เป็นกองทุนหมุนเวียนต่อไป ส่วนจะเก็บอัตราดอกเบี้ยจำนวนเท่าใดสามารถพูดคุยกันได้” สาทิตย์ กล่าว
ส่วนจะหารือกับพรรคร่วมรัฐบาลถึงการชูนโยบายประชานิยม แต่สร้างภาระให้กับงบประมาณประเทศหรือไม่นั้น สาทิตย์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นความวิตกกังวลของทุกพรรคการเมืองที่ภาระงบประมาณของรัฐจะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น การกำหนดนโยบายในลักษณะใช้จ่ายงบประมาณมากขึ้นก็จะเป็นภาระของประเทศ หากกองทุนกยศ.จะไม่ได้เป็นกองทุนหมุนเวียนอีกต่อไป จะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะจะกระทบถึงงบประมาณ
หมายเหตุ : สำหรับผู้รายงานข่าว ฉัตรลดา ตั้งใจ นักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ โครงการสองปริญญาเศรษฐศาสตร์-การสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขณะเขียนรายงานชิ้นนี้ฝึกงานอยู่กับกองบรรณาธิการข่าวไทย