รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาฯ ก่อตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบการปนเปื้อนในวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ เป็นที่แรกของโลก ตั้งแต่ปี 2538 โดยพัฒนางานด้านนิติวิทยาศาสตร์ฮาลาลขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคทั้งมุสลิมและมิใช่มุสลิม
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ ได้สั่งสมประสบการณ์มายาวนานกว่า20ปี ขณะนี้ยังไม่มีประเทศไหนที่สามารถตรวจผลิตภัณฑ์ได้เกินแสนผลิตภัณฑ์ แต่ที่นี่สามารถตรวจผลิตภัณฑ์ไปแล้วกว่า120,000ผลิตภัณฑ์ จึงเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกว่าเป็นที่หนึ่งในเรื่องการตรวจสอบความปลอดภัยด้านฮาลาล
จนกลายเป็นต้นแบบที่ทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นประเทศโลกมุสลิมและที่ไม่ใช่โลกมุสลิมต้องขอศึกษาดูงานและอบรมด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะยกระดับการผลิตอาหารฮาลาลให้มีคุณภาพตรงตามมาตรฐานอาหารฮาลาลที่กำหนดไว้ตามหลักการของศาสนาอิสลาม ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานCodex ที่ให้ทั้งความปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคและเป็นผลิตภัณฑ์อาหารส่งออกที่มีคุณภาพ ตามนโยบายที่จะให้อาหารฮาลาลในประเทศไทยสู่ครัวโลก
ไทยจึงจำเป็นต้องมองผลิตภัณฑ์ฮาลาลใหม่ เพราะถ้าเปรียบเทียบแล้วไทยยังส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลน้อยทำให้ถูกมองเห็นว่าตลาดฮาลาลนั้นเป็นตลาดเล็ก เช่น ไทยมองตลาดฮาลาลอยู่ที่ 17% ของตลาดอาหารโลก
สำหรับเยอรมันมองตลาดฮาลาลอยู่ที่ 89 % หรือ Halal for all ส่วนไทยมองว่าเป็น Halal for Muslim จึงควรเร่งพัฒนาและให้ความรู้ว่าฮาลาลเป็นเรื่องของความปลอดภัยของทุกๆ คนทั่วโลก เพราะปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ประชากรมุสลิมกำลังขยายตัวอย่างก้าวกระโดด คาดว่าในปี 2030 จะมีประชากรมุสลิมทั่วโลกกว่า 2,200 ล้านคน คิดเป็น 26.4% ของประชากรทั้งโลก จากปัจจุบันมีอยู่ 2,000 ล้านคนหรือ25%
ถ้าไทยให้ความสำคัญในเรื่องเครื่องหมายฮาลาล การส่งออกของไทยก็จะสามารถขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด เพิ่มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้อย่างมากเลยทีเดียว รศ.ดร.วินัยทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ