นำร่องรุ่นแรก 700 คน / 3เงื่อนไขไม่ก่อหนี้เพิ่ม
วันที่ 20 ธ.ค.59 ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(สกสค.) เปิดเผยความคืบหน้าการแก้ปัญหาหนี้สินครู ว่า ขณะนี้ สกสค.กำลังยกร่างระเบียบการจัดสวัสดิการเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาหนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาแบบครบวงจร โดยได้มอบให้ ผอ.สกสค.จังหวัด ไปสำรวจครูและบุคลากรฯ ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤติในจังหวัดของตนเอง และเรียงลำดับตามความจำเป็นเร่งด่วนแล้ว ซึ่งรุ่นแรกจะให้นำร่องจังหวัดละประมาณ 10 คนก่อน หรือ 700 กว่าคนทั่วประเทศ
และในเร็ว ๆ นี้ ตนจะขอเข้าพบ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อขอนโยบายการแก้ปัญหาหนี้สินครูอีกครั้ง พร้อมทั้งจะขอให้ออกมาตรการให้ผู้บังคับบัญชา ต้องรับผิดชอบต่อการกู้ของข้าราชการครูและบุคลากรฯ คือให้ ผอ.สถานศึกษา มีอำนาจในการอนุมัติวงเงินกู้ให้แก่ครู แต่หากครูต้องการกู้เกินอำนาจของ ผอ.สถานศึกษา ก็ต้องให้เป็นอำนาจอนุมัติของ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) เป็นต้น
ดร.พิษณุ กล่าวต่อว่า สกสค.จะกำหนดนิยามและเป้าหมาย ความจำเป็นเร่งด่วน ให้แต่ละจังหวัดใช้ในการคัดเลือกลูกหนี้ ซึ่งจะต้องมีหลักฐาน อาทิ เอกสารการยื่นโนติสจากสถาบันการเงิน หลักฐานการกู้ยืมเงินจากแหล่งต่าง ๆ มาประกอบการพิจารณา เพื่อให้การจัดลำดับมีความเหมาะสม เป็นธรรม และแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน และมีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแท้จริง เมื่อได้รายชื่อและตัวเลขครูและบุคลากรฯ ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการครั้งนี้แล้ว ประมาณเดือน ม.ค.60 ทาง สกสค.จะจัดให้มีการชี้แจงเงื่อนไข กติกาต่างๆ ที่จะระบุไว้ในสัญญาการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งมีหลักการสำคัญ 3 ข้อคือ 1.ครูจะต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดย สกสค.จะเจรจากับสถาบันการเงิน ไม่ปล่อยก็ให้กับครูเหล่านี้อีก 2.ต้องมีวินัยทางการเงิน โดยจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และ 3.ผู้บังคับบัญชา ต้องมีส่วนรับผิดชอบดูแล ผู้ใต้บังคับบัญชา ตามลำดับขั้น
“เบื้องต้นต้องรอข้อมูลการสำรวจยอดหนี้จาก สกสค.จังหวัด ว่ามีหนี้ขั้นวิกฤติอยู่ที่จำนวนเท่าไร แต่เท่าที่ประมาณการน่าจะอยู่ที่คนละ 1 ล้านบาทต่อคนขึ้นไป ซึ่งคาดว่ารุ่นแรกจะนำร่องประมาณ จังหวัดละ 10 คน รวมประมาณ 700 คน โดยสาเหตุที่เริ่มจากจำนวนน้อยก่อน เพราะอยากวางระบบให้ดี รวมถึงดูสถานะทางการเงินของ สกสค.เองด้วยว่าสามารถรองรับผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการได้มากน้อยแค่ไหน” ดร.พิษณุ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ