“พิษณุ”ลั่นครูเป็นหนี้ต้องใช้คืน เผย “ธีระเกียรติ” สั่ง สกสค.ทำเอ็มโอยูฉบับใหม่กับ”ออมสิน”คาดประกาศสัญญาเดือน มิ.ย.นี้
เมื่อวันที่ 16 พ.ค.60 ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตนพร้อมด้วยนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ได้หารือกรณีที่ สกสค.เจรจาให้ธนาคารออมสินคืนเงินจำนวน 9,600 ล้านบาท ที่ได้หักจากเงินกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคง ตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ชำระหนี้แทนผู้กู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไป คืนให้กับ สกสค. เนื่องจากทางฝ่ายกฎหมายของสกสค. ได้ตรวจสอบได้ตรวจสอบบันทึกข้อตกลงหรือเอ็มโอยูที่อดีตเลขาธิการ สกสค.ทำไว้กับธนาคารออมสิน กรณีให้ธนาคารออมสินหักเงินจากกองทุนสนับสนุนพิเศษฯ เพื่อชำระหนี้แทนผู้ที่ค้างชำระเกิน 3 งวดขึ้นไปได้นั้น เป็นสัญญาฝ่ายเดียว ถือเป็นการทำนิติกรรมที่ไม่ถูกต้อง โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นคนกลางในการพูดคุย
ทั้งนี้ จากการหารือทั้ง สกสค.และธนาคารออมสิน ต่างเห็นว่าเงินดังกล่าวเป็นสิทธิ์ของตนเองและยืนยันว่าทำถูกต้อง ดังนั้น นพ.ธีระเกียรติ ในฐานะคนกลางเห็นว่า ทั้งสกสค.และธนาคารออมสิน ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐ หากเกิดปัญหาฟ้องร้องก็ไม่เกิดประโยชน์ รังแต่จะทำให้ปัญหายืดเยื้อ จึงเสนอให้ สกสค.ไปหารือกับธนาคารออมสิน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าวร่วมกัน รวมถึงมีมติให้ยกเลิกเอ็มโอยูเดิม ที่ธนาคารออมสินทำไว้กับอดีตเลขาธิการสกสค. และให้ทำเอ็มโอยูฉบับใหม่ กับเลขาธิการ สกสค.คนปัจจุบัน
“…ผมขอย้ำว่าครูเป็นหนี้ก็ต้องชำระหนี้
ไม่ใช่ทำกันจนเป็นแฟชั่นว่าไม่ต้องใช้หนี้
มีกองทุนเงินสนับสนุนฯ จ่ายให้
ขอสำนึกได้ว่า
กรรมใดใครก่อ ก็ต้องรับผิดชอบ…”
“สำหรับร่างสัญญาเอ็มโอยูฉบับใหม่ หลักการสำคัญคือ สกสค.และธนาคารออมสิน ต้องมาช่วยกันติดตามทวงหนี้ ผมขอย้ำว่า ครูเป็นหนี้ก็ต้องชำระหนี้ ไม่ใช่ทำกันจนเป็นแฟชั่นว่าไม่ต้องใช้หนี้ มีกองทุนเงินสนับสนุนฯ จ่ายให้ ขอสำนึกได้ว่า กรรมใดใครก่อ ก็ต้องรับผิดชอบ การที่ครูที่ไม่ใช้หนี้ ก็ส่งผลต่อชื่อเสียง จรรยาบรรณและยังเป็นการเอาเปรียบครูดีที่ที่วินัยในการชำระหนี้อีกหลายหมื่นคน โดยขณะนี้ยอดหนี้ในระบบที่สมาชิกช.พ.ค.กับธนาคารออมสินเพิ่มขึ้นถึง 3 แสนล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมา ทาง ช.พ.ค. เพิ่มวงเงินกู้ได้สูงถึง 3 ล้านบาททำให้ครูมากู้จนเกินกำลัง จนเกิดเป็นปัญหา ส่วนเงินที่ธนาคารออมสิน หักไปจากกองทุนเงินสนับสนุนฯ เพื่อชำระหนี้แทนครูที่ค้างชำระ 3 งวดขึ้นนั้นยอดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่าล้านบาท เบื้องต้น ธนาคารออมสิน ไม่ปฏิเสธว่าจะไม่จ่าย แต่อาจจะเป็นการจ่ายแบบมีเงื่อนไข เช่น ผ่อนจ่ายเป็นงวด เป็นต้น ซึ่งต้องระบุในเอ็มโอยูฉบับใหม่ให้ชัดเจน”
นายพิษณุ กล่าวและว่า ทั้งนี้ สกสค.และ ออมสินจะต้องเร่งทำเอ็มโอยูและประกาศใช้ให้ทันภายในเดือน มิ.ย.60 ทั้งนี้หากได้เงินที่ธนาคารออมสินหักไปคืนมา สกสค. ก็จะได้นำมาใช้ในการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพครูทั่วประเทศให้เกิดประโยชน์ กับคุณภาพชีวิตครู ไม่ใช่แค่แก้ปัญหาหนี้ครูเท่านั้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ