“ผมจบม. 3 ก็ไม่ได้เรียนต่อครับ เพราะที่บ้านไม่มีเงินพอที่จะส่งให้เรียน ผมจึงหยุดเรียนเพื่อทำนา, เลี้ยงวัว และรับจ้างทั่วไป ผมทำได้ประมาณ 1 ปี ด้วยความที่อยากเรียนมากจึงย้ายมาอยู่กับหลวงลุงที่วัด เพื่อสมัครเรียนสายวิชาชีพ ผมช่วยหลวงลุงทำงานเป็นเด็กวัด… วัดจึงเป็นเหมือนบ้านให้ผมได้นอน ได้ข้าวจากวัดเพื่อให้ท้องอิ่มครับ”
คำบอกเล่าของ แบ็งค์-สาธิต เสือทุ่งหมอ หนุ่มน้อยจากจังหวัดกาญจนบุรี ที่วันนี้ชีวิตก้าวผ่านอุปสรรคต่างๆมาเริ่มต้นชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เรียนและได้ทำงานมีอาชีพเลี้ยงตัวเองและเป็นเสาหลักให้กับครอบครัว แต่ก่อนที่จะมีวันนี้ “แบ็งค์” ได้ย้อนเรื่องราวชีวิตให้ฟังว่า
“ผมอาศัยอยู่กับพ่อแม่และน้องชาย ที่จังหวัดกาญจนบุรี ด้วยครอบครัวของเราไม่ได้มีฐานะดีเหมือนคนอื่น พวกเราจึงช่วยกันทำงานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายภายในครอบครัว แต่รายได้ที่ได้มาบางครั้งก็ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องการเรียน ผมตัดสินใจหยุดเรียนเพื่อออกมาหางานทำ ผมทำงานทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นงานรับจ้างชั่วคราวตามห้างสรรพสินค้า พนักงานทำความสะอาด ผมไม่เคยเกี่ยงงาน เพราะงานทุกอย่างทำให้ผมได้รับประสบการณ์และมีเงินมาช่วยเหลือครอบครัว”
ด้วยความตั้งใจและแสวงหาโอกาสในการเรียน ทำให้ “แบ็งค์” ตัดสินใจออกจากบ้านเพื่อมาอยู่วัดกับหลวงลุง ณ จังหวัดสุพรรณบุรี และสมัครเรียนสายอาชีพ แบ็งค์อาศัยอยู่ที่วัดทำงานแลกกับที่ซุกหัวนอนโดยมีหลวงลุงรับรองเป็นผู้ปกครอง หลังจากนั้นก็ทำงานเพื่อส่งตัวเองเรียนต่อในระดับปริญญาตรีและยื่นขอรับทุนเรียนจากกยศ. โดยแบ็งค์เลือกเข้าเรียนในสายวิชาชีพ “ครู” แต่ตัวเองชอบด้านเทคโนโลยี จึงเริ่มหาที่เรียนใหม่ และแบ็งค์ก็ได้มารู้จักกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม สถาบันการศึกษาเพื่อสังคมในกลุ่มซีพี ออลล์ และเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯทันที
“ผมดีใจที่ผมได้มาเรียนที่สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ครับ เพราะที่นี่สอนให้ผมได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีในห้องเรียน และได้ฝึกปฎิบัติงานจริงในสถานประกอบการ และที่สำคัญระหว่างที่ผมฝึกงานผมมีรายได้ แต่เงินที่ผมได้นั้นก็ไม่พอกับการมาอยู่ที่กรุงเทพฯที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ผมจึงหางานพิเศษทำหลังเลิกเรียนยาวไปจนถึง 4-5 ทุ่ม เป็นประจำทุกวัน ผมเชื่อว่ามีงานทำดีกว่าไม่มีงานทำครับ จนเมื่อขึ้นปีที่ 2 อาจารย์ที่สถาบันฯเห็นว่าเป็นคนขยันทำงานและตั้งใจเรียน จึงเสนอให้ผมเข้ารับทุนจากกองทุนเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้ หรือ พีไอเอ็ม สมาร์ท เป็นกองทุนฯที่ช่วยให้ผมมีกำลังใจมากขึ้น เพราะผมไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนตัว และทำให้ผมพอจะมีเงินส่งไปให้ที่บ้าน กองทุนนี้เหมือนต่อชีวิตของผมครับ ทำให้ผมมีแรงที่จะเรียนต่อจนจบ ผมไม่เคยลืมว่าความลำบากเป็นยังไง ทำให้วันนี้ผมเห็นคุณค่าของสิ่งที่ผมได้คือการศึกษาครับ”
ความกตัญญูและความมุ่งมั่นทางการศึกษาส่งผลให้ปัจจุบัน “แบ็งค์” จบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) และเข้าทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ด้านไอที ที่บริษัท นานมี บุ๊คส์ จำกัด
ด้านนายก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวว่า ซีพี ออลล์ มีนโยบายด้านการส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน เป็นภารกิจหลักเพื่อตอบแทนสังคมที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องกว่า 12 ปีด้วยการก่อตั้งสถาบันการศึกษา 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม), วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์(พีเอที) และ ศูนย์การเรียนปัญญาภิวัฒน์ที่มีกว่า 20 ศูนย์ทั่วประเทศ ซึ่งในปี 2560 ซีพี ออลล์ มอบทุนการศึกษาใน 3 สถาบันการศึกษาจำนวน 10,610 ทุน เป็นเงินกว่า 1,126 ล้านบาท เพื่อร่วมสร้างรากฐานทางการศึกษาให้กับเยาวชนไทยอีกทางหนึ่ง ซึ่งผู้ที่จบจากปัญญาภิวัฒน์ฯสามารถปฏิบัติงานได้ทันที เพราะมีรูปแบบการเรียนควบคู่การฝึกปฏิบัติงาน
สำหรับ “กองทุนเพื่อชีวิตแห่งการเรียนรู้” หรือ พีไอเอ็ม สมาร์ท (PIM Smart) เป็นหนึ่งในกองทุนที่มอบให้กับนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเข้าศึกษา ณ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2555 ด้วยความร่วมมือระหว่าง บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน),ผู้บริหารของบริษัท, กลุ่มพันธมิตรคู่ค้าทางธุรกิจและบุคคลทั่วไป มีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุน ส่งเสริมเยาวชนไทยให้ได้รับการศึกษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระหว่างการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การสนับสนุนเพื่อเป็นค่าครองชีพนอกเหนือจากได้รับทุนการศึกษาที่เป็นค่าเล่าเรียนให้กับนักศึกษาที่ประสบปัญหาในการจัดหาสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันระหว่างการฝึกภาคปฏิบัติควบคู่ไปกับการเรียนในห้องเรียนผ่านระบบการศึกษาในรูปแบบ Work-based Education ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม) โดยไม่มีข้อผูกพันใดๆ ปัจจุบันมีนักศึกษาที่ได้รับทุน พีไอเอ็ม สมาร์ท (PIM Smart) ไปแล้วกว่า 500 คน และกำลังศึกษาอยู่ 137 คน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ