โดยเฉพาะการอบรมพัฒนาครู-อาหารกลางวัน นร.
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) ว่า ที่ประชุมได้หารือ เรื่องการปรับแก้ระเบียบต่าง ๆ ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการหลายเรื่อง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ปรับแก้ ระเบียบกองทุนส่งเสริมโรงเรียนในระบบ เพื่อเปิดกว้างให้โรงเรียนในระบบประเภทสามัญศึกษา ที่ไม่ได้รับเงินอุดหนุน สามารถกู้ยืมเงินจากกองทุนฯ ได้โดยไม่จำกัดวงเงิน ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ มีเงินหมุนเวียนอยู่ประมาณ 700 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือกรณีที่สถาบันการศึกษาเอกชน ขอรับการอุดหนุนเพิ่มเติมจาก ศธ. ซึ่งที่ผ่านมามีเสียงบ่น ว่าหลายเรื่องไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เช่น การอบรมพัฒนาครู การอุดหนุนอาหารกลางวัน สำหรับเด็กอนุบาล และเด็กประถมศึกษาในโรงเรียนเอกชน
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการ และโดยนโยบาย ตนไม่อยากให้แบ่งแยกว่าเป็นรัฐหรือเอกชน ซึ่งในส่วนของการสนับสนุนอาหารกลางวัน ที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไปดูว่า โดยระเบียบแล้ว สามารถดำเนินการได้หรือไม่ เพราะปัจจุบัน ศธ.ได้โอนงบฯ ค่าอาหารกลางวันไปไว้ที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) แล้ว
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อไปว่า ส่วนเรื่องการบริหารจัดการสถาบันอาชีวศึกษาเอกชน ซึ่งโอนมาอยู่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) แล้ว ทำให้การประสานงานในภาพรวมขาดความเชื่อมโยง โดยเฉพาะนโยบายการรับนักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ที่ต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ สอศ. เพื่อวางแผนการรับเด็กเข้าเรียนร่วมกัน
นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) กล่าวว่าเดิมงบฯ ค่าอาหารกลางวันอยู่ที่ ศธ. แต่ภายหลังได้ถ่ายโอนไปให้ อปท. ซึ่งหากจะให้โรงเรียนเอกชนได้รับการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันด้วย จะต้องไปศึกษาข้อกฎหมาย ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งหากจะให้ ศธ.จัดสรรโดยตรง ต้องเป็นเรื่องของการขอเพิ่มงบประมาณ ซึ่งต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนดูแลเด็กกว่า 2.1 ล้านคน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ไม่ขอรับการอุดหนุน กลุ่มโรงเรียนที่ได้รับการอุดหนุน 70% และกลุ่มโรงเรียนที่ได้รับการอุดหนุน 100% โดยกลุ่มที่ขอรับการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กอนุบาล และเด็กประถมนั้น จะอยู่ในกลุ่มที่ได้รับการอุดหนุน70% ซึ่งมีจำนวน 3,034 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีเด็กยากจน และเด็กพิการทุพลภาพ ที่ได้รับการอุดหนุนค่าอาหารกลางวันอยู่แล้ว 28% ส่วนกลุ่มที่ได้รับการอุดหนุน 100% ก็ได้รับการอุดหนุนในส่วนของค่าอาหารกลางวันอยู่แล้ว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ