วันที่ 29 ตุลาคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ Digital Cultural Heritage หรือโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล โดยมีภารกิจเพื่ออนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมไทยให้อยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน
นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า “มรดกทางวัฒนธรรม เป็นเอกลักษณ์และมีคุณค่าในการแสดงออกถึงรากฐานและความเป็นมาของชาติ ประเทศไทยมีเอกลักษณ์โดดเด่นในด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้ แต่ด้วยบริบทการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม และแนวโน้มการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดในยุคปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดการสูญสลายของมรดกทางวัฒนธรรมของไทย สดช. ในฐานะหน่วยงานที่มีพันธกิจในการกำหนดทิศทางและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เห็นว่าการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบเนื้อหาดิจิทัล หรือ Digital Content อย่างสร้างสรรค์ ถือเป็นแนวทางหนึ่งในการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของไทยให้สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และสามารถเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น จึงได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล (Digital Cultural Heritage) โดยการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
โครงการ Digital Cultural Heritage แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วนงานหลัก ประกอบด้วย การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) เพื่อเป็นข้อริเริ่มทางนโยบายในการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญตามนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561– 2580) ภายใต้ยุทธศาสตร์สร้างสังคมคุณภาพที่ทั่วถึงเท่าเทียมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล เพื่อเชิญชวนเยาวชนคนรุ่นใหม่ร่วมกันสร้างสรรค์มรดกทางวัฒนธรรมให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content และเผยแพร่ผ่าน Digital Platform อันเป็นการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่หวงแหนในมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
ทั้งนี้ สดช. คาดหวังว่าการดำเนินโครงการดังกล่าว จะทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาชน มีความร่วมมือและมีส่วนร่วมในการออกแบบ และพัฒนาแนวทาง/มาตรการ และระบบนิเวศ (Ecosystem) ในการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้อยู่ในรูปแบบ Digital Content ในรูปแบบที่ยั่งยืน รวมทั้งเป็นการปลูกฝังให้คนรุ่นใหม่ มีจิตสำนึกหวงแหนและมีการธำรงรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่ในรูปแบบที่ยั่งยืน ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน มีการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้าน Digital Content เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศเพิ่มมากขึ้น
การดำเนินโครงการนี้ เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนดำเนินโครงการ โดยเฉพาะในส่วนของ บริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการในครั้งนี้ โดยเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคโนโลยีสำหรับการจัดกิจกรรม รวมทั้งสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อร่วมถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ในกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดโครงการ
นายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์และความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท Google (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “Google มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ได้จัดโครงการ Digital Cultural Heritage และบริษัทฯ ได้เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนโครงการนี้ ปัจจุบันในทุกภาคส่วนของสังคมได้มีการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น การทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมก็สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้เช่นเดียวกัน บริษัท Google (ประเทศไทย) ยินดีสนับสนุนโครงการ Digital Cultural Heritage อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้คนรุ่นใหม่ ได้เข้าถึงและเข้าใจศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของไทยและต่อยอดในการสสร้างโอกาสและประโยชน์เพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ดีงามต่อไป”
บริษัท Google (ประเทศไทย) ได้เริ่มสนับสนุนการนำเนื้อหาศิลปวัฒนธรรมของไทยเข้าสู่ระบบดิจิทัลผ่านแพลตฟอร์มของ Google Art and Culture ตั้งแต่ปี 2561 เช่น ในโครงการ Great and Good Friends ด้วยความร่วมมือกับพิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนิทรรศการ “วังหน้านฤมิต ในมิติแห่งกาลเวลา” ในการทำงานกับกรมศิลปากร และหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในส่วนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการโดยผ่านกระบวนการห้องปฏิบัติการนโยบายสาธารณะ (Policy Lab) นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายสาธารณะ โครงการส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล กล่าวว่า “ขณะนี้ได้คัดเลือกพื้นที่นำร่องแล้ว ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก หรือเมืองสองแคว เนื่องจากเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีมรดกทางวัฒนธรรรม (Cultural Heritage) ที่มีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งวัฒนธรรมในอดีตและวัฒนธรรมร่วมสมัย”
การจัดกิจกรรม Policy Lab มุ่งหวังให้มีต้นแบบของการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในยุคดิจิทัล ซึ่งต้องสามารถสร้างคุณค่าได้จริง มีความคล่องตัว มีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และมีความยั่งยืน โดยการดำเนินงานภายใต้โครงการฯ นี้ ได้อาศัยมรดกทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นแกนหลักในการดำเนินงาน เพื่อให้เป็นต้นแบบของการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ในด้านการนำมรดกทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ผลลัพธ์ที่คาดหวังจากกิจกรรม Policy Lab ประกอบด้วย 1) ยุทธศาสตร์และชุดของโครงการที่ควรดำเนินการ พร้อมหน่วยงานรับผิดชอบและแหล่งงบประมาณ เพื่อสร้างสรรค์ต่อยอดมรดกศิลปวัฒนธรรมนำร่องให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล 2) กลไกการกำกับดูแล เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติให้มีความยั่งยืน และ 3) Public Dashboard เพื่อติดตาม ประเมินผล และถอดบทเรียนของการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไปสู่การปรับปรุงและขยายผลอย่างต่อเนื่อง
“กิจกรรม Policy Lab ที่จัดขึ้นภายใต้โครงการนี้ มุ่งที่จะแก้ ปัญหาของการจัดทำและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศ ในด้านการนำมรดกทางวัฒนธรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล มาสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม และมีความเข้มแข็งสามารถอยู่ด้วยตัวเองได้อย่างยั่งยืน จึงได้รับการตอบรับอย่างดีมาก จากพื้นที่นำร่อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนในพื้นที่” นายสัญญา เศรษฐพิทยากุล กล่าว
ในส่วนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และแข่งขันเชิงสร้างสรรค์ (Hackathon) การส่งเสริมการถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสู่รูปแบบดิจิทัล นั้น จัดขึ้นในชื่อว่า “Hackulture นวัต…วัฒนธรรม เรียงร้อยวัฒนธรรมไทย…สู่โลกดิจิทัล” ในหัวข้อ “เห็นแต่ไม่เคยรู้” ได้เชิญชวนนิสิตนักศึกษา อายุระหว่าง 16-24 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับ ปวส. ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า รวมทีม 4-6 แข่งขันกันถ่ายทอดเรื่องราวของมรดกวัฒนธรรมไทยทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ผ่านรูปแบบดิจิทัลคอนเทนต์รูปแบบใดก็ได้ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัลรวม 110,000 บาท มีผู้ส่งผลงานทั้งหมด 66 ทีมจากหลากหลายสถาบัน และในวันนี้มีการเปิดตัว 20 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบ โดย 20 ทีมมีสมาชิกรวมกันทั้งหมด 98 คน มาจากหลากลายสถาบัน ภาคกลาง กรุงเทพฯ 59 คน ภาคเหนือ 23 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 คน และภาคใต้ 10 คน โดยมีหัวข้อทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจนำไปผลิตเป็นดิจิทัลคอนเทนต์ เช่น นวัตกรรมแห่งขนมไทย เครื่องปั้นดินเผา รำมวยไทย มหัศจรรย์แห่งทองคำ ศิลปะไทยฝีมือช่างเพชรบุรี ส้มตำ รามเกียรติ์ ประเพณีการบวชควายจ่า เป็นต้น
โดยทั้ง 20 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ จะเข้าสู่กิจกรรมค่ายฝึกอบรม (Boot Camp) ร่วมกัน ระหว่างวันที่ 29-31 ตุลาคมนี้ ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย เช่น การบรรยายพิเศษเปิด Hackulture Bootcamp ช่วง Inspiration Talk โดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน ในหัวข้อ Creative Storytelling เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย จากประสบการณ์หรือมุมมองของท่านผู้หญิงสิริกิติยาฯ นอกจากนั้น ยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการผลิตคอนเทนต์ดิจิทัลจาก คุณมิ้นท์ มณฑล กสานติกุล หรือที่รู้จักกันในชื่อ I Roam Alone อีกด้วย หลังจากนั้นทั้ง 20 ทีม จะสร้างสรรค์ผลงานจริงร่วมกับ Mentor หรือที่ปรึกษาประจำกลุ่มเพื่อผลิตผลงานจริงรอบสุดท้าย และจะตัดสินพร้อมมอบรางวัลและจัดนิทรรศการในวันที่ 12 มกราคม 2565 ต่อไป