ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงประเด็นนโยบายกัญชาทางการแพทย์ ดำเนินการภายใต้กรอบอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1961 ส่วนการนำมาใช้ในผู้ป่วยทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทยมีกฎหมายและผลการศึกษารับรอง ปัจจุบันจ่ายยากัญชาไปแล้วกว่า 453,000 ครั้ง ดูแลรักษาผู้ป่วยกว่า 143,000 คน
วันนี้ (19 กรกฎาคม 2565) ที่ อาคารสัปปายะสภาสถาน รัฐสภา กทม. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา แถลงข่าวชี้แจงกรณีข้อสงสัยนโยบายกัญชาเสรี การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนไทย การละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศ และกฎหมาย
โดย นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มนำกัญชามาใช้ทางการแพทย์ ตั้งแต่ปี 2562 โดยมีเจตนารมณ์ในการนำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัย ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการเปิดคลินิกกัญชาทั่วประเทศ 938 แห่ง เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข 860 แห่ง และเอกชน 78 แห่งมีแพทย์ที่ผ่านการอบรม 7,500 คน และแพทย์แผนไทย 7,860 คนที่ผ่านการอบรม สามารถจ่ายยา ทั้งแผนไทยและปัจจุบันให้กับผู้ป่วย ผลงานที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน จ่ายยากัญชาไปแล้วกว่า 453,000 ครั้ง ดูแลรักษาผู้ป่วย 143,000 คน นอกจากนี้ได้มีการนำกัญชาไปใช้ในการวิจัยตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เกี่ยวกับ การปลูก แปรรูป นำไปใช้ประโยชน์ และการบริหารจัดการมากกว่า 60 งานวิจัย หากผลการศึกษาออกมาเป็นที่น่าพอใจจะสามารถนำใช้กับผู้ป่วยต่อไป
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ได้ใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย โดยมีข้อบ่งชี้เพื่อนำมาใช้ใน 3 ประเด็น คือ 1)กลุ่มที่ได้ประโยชน์ โดยมีเอกสารอ้างอิงมีการศึกษาวิจัยชัดเจน นำมารักษาใน 6 กลุ่มโรค กลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัดและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน, เด็กที่มีอาการชัก และดื้อยาทุกชนิด ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีร่วมกับสถาบันประสาทวิทยาพบว่า ได้ผลดีถึงร้อยละ 50 , ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย, ผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และ อาการปวดประสาทส่วนกลาง สถาบันประสาทวิทยาได้นำมาใช้และศึกษาวิจัยพบว่าได้ผลดี ซึ่งตรงกับผลการศึกษาของต่างประเทศ และนำมาใช้ช่วยเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ 2) กลุ่มที่น่าจะได้ประโยชน์ โดยโรงพยาบาลประสาทเชียงใหม่ทำการศึกษาในกลุ่มพาร์กินสันได้ผลร้อยละ 30 ถึง 40 และอยู่ในระหว่างศึกษากลุ่มปลอกประสาทอักเสบ อัลไซเมอร์ และโรคทางระบบประสาทอื่น ๆ 3) กลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ อาทิเช่น การใช้ในผู้ป่วยมะเร็งโดยได้ทำการทดสอบในหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดกัญชาสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป ทั้งนี้ การใช้กัญชาทางการแพทย์ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาด้วยวิธีอื่นก่อน
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกมีตำรับยากัญชาแผนไทยที่ประชาชนสามารถนำมาใช้รักษาสุขภาพ จำนวน 19 ตำรับ และมีการผลักดันยากัญชาแผนไทย 5 รายการ คือ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาศุขไสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ น้ำมันกัญชา(หมอเดชา) และน้ำมันกัญชาทั้ง 5 สู่ชุดสิทธิประโยชน์และบัญชียาหลักแห่งชาติ นอกจากนี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องในการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพผ่านเครือข่ายสุขภาพในระดับชุมชน ส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทยการแพทย์ทางเลือก ในหน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับและเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ข้อมูลปีงบประมาณ 2564 มีประชาชนที่ใช้น้ำมันกัญชาทางการแพทย์และยาแผนไทยที่มีกัญชาผสมปรุง จำนวน 238,865 ราย และตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยยาที่มีกัญชาปรุงผสมในตำรับ ที่อยู่ระหว่างการวิจัยโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่าย จำนวน 49 เรื่อง เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ สำหรับการควบคุมการใช้กัญชาในช่วงระยะก่อนกฎหมายกัญชา กัญชง ประกาศใช้ โดย พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข มาตรา 46 การวิจัย การส่งออก การแปรรูปเพื่อการค้าทำไม่ได้ทันที ตามมาตรา 78 ผู้ใดกระทำผิด มีโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับซึ่งมีการดำเนินการตามกรอบกฎหมายอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามกัญชา เป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต้องให้ประชาชนเข้าถึงได้ แต่ต้องดำเนินการควบคู่กับการควบคุม คุ้มครองบุคคล และสังคม ไม่ให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการบริโภค และการป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยมีส่วนร่วมในการดูแล ควบคุมป้องกัน และคุุ้มครองประชาชนในฐานะผู้บริโภคให้มีความปลอดภัยจากการใช้กัญชา ใน 2 ประเด็นที่สำคัญ คือ 1) การออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันของกัญชากัญชงหรือพืชอื่นใดเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยอาศัยอำนาจของ พ.ร.บ. การสาธารณสุขเพื่อคุ้มครอง ป้องกันไม่ให้ กลิ่น ควันการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพผู้ที่ประสบเหตุและผู้ที่อาศัยใกล้เคียง ซึ่งประชาชนประสบเหตุสามารถแจ้งเจ้าพนักงานได้ และเจ้าพนักงานสามารถใช้อำนาจ ตามมาตรา 44 ในการตักเตือน ดำเนินการและระงับเหตุได้ หากฝ่าฝืนคำสั่งจะมีบทลงโทษทั้งจำและปรับ 2) การออกประกาศ
กรมอนามัยในการนำใบกัญชามาประกอบหรือปรุงอาหารในสถานประกอบกิจการอาหาร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 โดยกำหนดให้ร้านอาหารต้องแสดงข้อมูลว่ามีการนำกัญชามาใช้ ใช้ในเมนูใด ใช้ในปริมาณเท่าใด และจัดทำคำแนะนำการบริโภค และเตือน ซึ่งสอดรับกับ พ.ร.บ.สมุนไพรควบคุม ทั้งนี้ ได้ดำเนินการยกระดับประกาศกรมอนามัย ให้เป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอยู่ระหว่างนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสาธารณสุขเพื่อให้มีการบังคับใช้คุ้มครองผู้บริโภคต่อไป
ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กรณีที่มีการอภิปรายว่า การปลดล็อกกัญชาของประเทศไทยอาจจะผิดข้อตกลงอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 นั้น ขอชี้แจงว่า ในบทบัญญัติตามอนุสัญญาเดี่ยวนั้น มีการกำหนดควบคุมกัญชาไว้ใน 2 ตาราง คือ ตารางที่ 1 ใช้ทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ตารางที่ 4 กัญชาเป็นยาเสพติด แต่ต่อมาทางองค์การสหประชาชาติได้มีการตัดการควบคุมกัญชาออกจากตารางที่ 4 ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงได้มาปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว เพื่อใช้ทางการแพทย์ เพื่อสุขภาพได้ เรากำกับการใช้กัญชาเป็นสมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง ดังนั้นขอให้มั่นใจว่าประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข และ อย. ปฏิบัติสอดคล้อง อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 แน่นอน
********************************** 19 กรกฎาคม 2565