ครป. ผนึกองค์กรนักศึกษา แถลงคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.สภาผู้แทนนิสิตฯ ชี้ เป็นการจำกัดเสรีภาพ สกัดองค์กรนักศึกษาทำกิจกรรมอย่างอิสระ ชี้อย่าออกกฎหมายควบคุมประชาชนซ้ำซ้อน
13 ส.ค.2566 – ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย, นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) อดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ปี 2544, นายเยี่ยมยอด ศรีมันตะ คนเดือนตุลา ที่ปรึกษาสหภาพครูแห่งชาติ, นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ อดีตกรรมการสภาเด็กและเยาวชน (สดย.) ร่วมด้วย นายคุณากร ตันติจินดา นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายนัสรี พุ่มเกื้อ ประธานสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายธนกฤตษ์ วงศ์อาษา ผู้แทนองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. ….
นายนัสรี กล่าวว่า จากการเสนอร่างพ.ร.บ.สภาผู้แทนนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย พ.ศ. …. ทั้ง 2 ร่างในสภานั้น เราขอคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ ดังกล่าวทั้งฉบับ เพราะหากผ่านวาระในสภาจะเกิดปัญหาตามมา ซึ่งแฝงไปด้วยการเปิดช่องให้รัฐมาแทรกแซง รวมถึงการขับเคลื่อนองค์กรเป็นเงินบริจาค ซึ่งไม่รู้ว่าเงินใครบ้าง ทำให้เป็นผลผูกพัน เพราะต้องมีอำนาจทางใดทางหนึ่ง มาควบคุม เราจึงมีความกังวลในส่วนนี้ และสภานิสิตมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีอำนาจในการจัดการตนเองอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องสร้างกฎหมายมาให้รวมไว้ที่เดียว วิธีการคัดเลือกคนก็ต่างกัน เมื่อนำมารวมกันภายใต้กฎหมายเดียวกัน จะนำมาซึ่งปัญหา
นายคุณากร ระบุว่า การเปิดช่องให้แทรกแซงความเป็นอิสระขององค์กรนักศึกษาต่าง ๆ เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีการขับเคลื่อนทางการเมือง ซึ่งสภานิสิตหรืออื่น ๆ ก็มีส่วนในการขับเคลื่อนด้วย แต่พอมีร่างกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้สิทธิในการพูด หรือแสดงออกขาดหายไป โดยจากการพูดคุยกับ สส. ได้ฟังความเห็นผู้เสนอร่าง คือ เพื่อส่งเสริมมหาวิทยาลัยในหลายพื้นที่ ไม่มีเสียงหรือส่งเสียงแล้วไม่ได้ยินเหมือนมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่การแก้ไขปัญหาในการจัดตั้งองค์กรนี้ ไม่ได้ทำให้เสียงดังขึ้น แต่กดให้เสียงที่ดังให้ต่ำลง จึงต้องแก้ไขที่โครงสร้างการศึกษา การแทรกแซงของอาจารย์
นายธนกฤตษ์ กล่าวว่า องค์กรนิสิต หรือสภานิสิต ไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ไม่ตรงตามความต้องการของเรา ปัญหาที่ตามมาคือสิ่งที่ท่านคิด ไม่ตรงกับที่เราอยากได้ อำนาจก็จะไม่มี หากเปิดช่องให้แทรกแซงการเมืองของเรา แล้วไม่เป็นอิสระ กฎหมายอื่นจะมีความหมายอะไร จึงมองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่แทรกแซงการเมืองของพวกเรากลุ่มนักศึกษาหรือไม่
นายเมธา กล่าวว่า ครป.ขอคัดค้านการออกร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ เพราะนิสิตนักศึกษาไม่มีส่วนร่วมก้บการออกกฎหมายแต่อย่างใด และคนเสนอกฎหมายตั้งใจออกมาเพื่อควบคุมกิจกรรมนักศึกษาและจำกัดการเคลื่อนไหวของขบวนการนิสิต นักศึกษาไทย เพราะที่ผ่านมาขบวนการนักศึกษาเติบโตอย่างมากในปี 2563-2564 จึงมีร่างกฎหมายออกมาเพื่อตีกรอบแลัปิดปากนักศึกษาไม่ให้แสดงเจตจำนงเสรีหรือเป็นอิสระ รวมถึงร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะหลายมาตราไปขัดกับกฎหมายอื่น ๆ หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.แต่มหาวิทยาลัย
นายเมธา กล่าวต่อว่า ตนเองขอเรียกร้องให้ผู้นำเสนอกฎหมายนี้ทั้งสองส่วนถอนกฎหมายออกจากรัฐสภา และขอให้สมาชิกรัฐสภาตีตกกฎหมายฉบับนี้ไป และตั้งข้อสังเกตว่าถูกออกแบบมาจากรัฐโดยเฉพาะกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา โดยเกรงว่าถ้าเสนอโดยรัฐจะเป็นปัญหาจึงเสนอจากคนกลุ่มหนึ่งขึ้นไป พร้อมยืนยันนิสิตนักศึกษาต้องมีสิทธิเสรีภาพ การต่อสู้ 50 ปี 14 ตุลาที่ผ่านมา ทำให้เรามีประชาธิปไตย แต่ร่าง พ.ร.บ. นี้ขัดต่อหลักการสิทธิเสรีภาพอย่างแท้จริง
ดร.ลัดดาวัลย์ ระบุว่า นักศึกษา เยาวชน เป็นลมหายใจที่สำคัญของสังคม ถ้าขาดการเคลื่อนไหว หรือการแสงดออกเท่ากันการหยุดยัง้การเจริญเติบโตของสังคม ซึ่งเราหนีไม่พ้น และเติบโตไม่ได้ถ้าไม่มีเสรีภาพ การออก พรบ. แบบนี้ขัดกับหลักกฎหมาย เพราะผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ทุกร่าง การแสดงออกวันนี้เหมาะสมหรือไม่ที่จะพิจารณากฎหมายที่นักศึกษาเองก็คัดค้าน
นายเยี่ยมยอด กล่าวว่า ขบวนการนักศึกษาเป็นที่หวาดกลัวของเผด็จการอย่างมาก มีการคิดแผนการต่อต้านทั้งในรูปแบบกฎหมายเพื่อควบคุมกระบวนการนักศึกษาและประชาชนตั้งแต่อดีตแล้ว โดยธรรมชาติตามจารีตก็ควบคุมเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว ทั้งกฎระเบียบ ทรงผม การแสดงออกเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายอะไรมาครอบคลุมอีก ยิ่งเอากฎหมายข้างนอกไปคุมกฎหมายในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้ ยิ่งมีกฎหมายเยอะ แรงต่อต้านก็ยิ่งเยอะ
นายวรภัทร กล่าวว่า สภาเด็กและเยาวชนค่อนข้างครอบคลุมการดูแลเด็กและเยาวชนอยู่แล้ว การมาเขียน พ.ร.บ. สภานิสิตนักศึกษา ก็จะเป็นการผูกขาดหรือครอบคลุมนักเรียนนักศึกษา การออกมาแบบนี้เยาวชนนอกระบบการศึกษาจะไปอยู่ตรงไหน ซึ่งการเขียนข้อความของร่างทั้ง 2 ฉบับ มีข้อความแปลก เหมือนเขียนกฎหมายไม่เป็น รายละเอียดไม่ชัดเจน และไม่เห็นความจำเป็นต้องมีร่างมาทับซ้อนอีก อาจไปแก้ไข พ.ร.บ. ในส่วนอื่นเพิ่ขมเติมในรายละเอียดกันไป รวมถึงยกระดับกิจกรรมประเพณีที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น.