วันพฤหัสบดี ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2567, 21.33 น.
สปป. ลาว จับมือ ราชกรุ๊ป เดินหน้าโครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพระยะที่ 3
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงความร่วมมือ “โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป. ลาว” ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2567-2573) เพื่อพัฒนาการอาชีวศึกษาใน สปป. ลาว เสริมสร้างความรู้และทักษะฝีมือด้านเทคนิคที่จำเป็นในภาคอุตสาหกรรมและพลังงานทดแทนแก่ครูและนักเรียนอาชีวศึกษา ณ โรงแรมลาว พลาซ่า นครหลวงเวียงจันทน์

นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป. ลาว” ได้ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2554 หลังจากบริษัทฯ จัดตั้งบริษัทย่อยใน สปป. ลาว โดยดำเนินการต่อเนื่องมา 2 ระยะ เป็นเวลา 12 ปีแล้ว และกำลังจะเข้าสู่การดำเนินงานระยะที่ 3 เริ่มตั้งแต่ปี 2567-2573
“โครงการนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของบริษัทฯ ที่กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ได้ให้การตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง โดย ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการของโครงการฯ อีกทั้งโครงการนี้ยังมีส่วนร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาล สปป. ลาว นอกจากนี้ โครงการฯ ระยะที่ 3 ยังได้ยกระดับเป้าหมายไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) เป้าหมายที่ 4 การสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเน้นที่เป้าประสงค์การส่งเสริมเพิ่มจำนวนผู้ที่มีทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงานและการเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการขยายโอกาสด้านทุนการศึกษา การฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มจำนวนครูที่มีคุณภาพผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังจะตอบสนองเป้าหมายที่ 8 การส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ มีผลิตภาพ และการมีงานที่เหมาะสมสำหรับทุกคน โดยจะเน้นส่งเสริมผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่นำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางด้านสิ่งแวดล้อม”
“ โครงการฯ ระยะที่ 3 ได้ให้ความสำคัญด้านพลังงานทดแทนมากขึ้น ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และพืชพลังงาน โดยบริษัทฯ จะสนับสนุนการเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านพลังงานทดแทนให้กับครูอาจารย์ และนักศึกษาจะได้ฝึกปฏิบัติภาคสนามในการติดตั้งและบำรุงรักษาแผงโซลาร์ในชุมชนท้องถิ่นที่ยังขาดแคลนไฟฟ้า ซึ่งเป็นการสร้างคุณค่าทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันยังสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสังคมของกลยุทธ์ความยั่งยืนบริษัทฯ เป็นอย่างดีด้วย โอกาสนี้ บริษัทฯ รู้สึกเป็นเกียรติและขอขอบคุณรัฐบาล สปป. ลาว ที่ได้มอบเหรียญตราพัฒนาให้แก่บริษัทฯ อันเป็นการยืนยันถึงความสำเร็จของโครงการฯ ที่สามารถสร้างคุณค่าจรรโลงสังคมและ สปป. ลาวอย่างยั่งยืน” นายนิทัศน์ กล่าว

ท่านสุลิอุดง สูนดารา รัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว กล่าวว่า สปป.ลาวต้องเร่งพัฒนาบุคลากรอาชีวะ เพราะมีความแตกต่างของสภาพเมืองใหญ่กับเมืองเล็ก จึงต้องมีแรงงานที่เพียงพอและมีคุณภาพ โครงการความร่วมมือจึงเสริมสร้างแรงงาน สร้างนักวิชาการให้ตรงเป้าหมาย โดย สปป.ลาว มีวิทยาลัยอาชีวะ 26 แห่ง และคัดเลือกวิทยาลัยที่มีความเหมาะสมข้าร่วมโครงการในระยะที่ 1-3 รวม 8 แห่ง โดยปี 2024 จะนำหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นไปสอนนักเรียน โดยเรียนควบคู่สายสามัญและอาชีวะ เมื่อนักเรียนมัธยมจบการศึกษา จะได้ประกาศ 2 ใบ คือสายสามัญ และอาชีวะ
ท่านหนูพัน อุดสา อธิบดีกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการและกีฬา สปป. ลาว กล่าวว่า แผนพัฒนาประเทศของรัฐบาล สปป. ลาว ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาแรงงานทักษะขั้นสูงให้กับตลาดแรงงาน โครงการการศึกษาเสริมทักษะสร้างอาชีพ สปป. ลาว ที่รัฐบาล โดยกระทรวงศึกษาธิการและกีฬาดำเนินการร่วมกับบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ดำเนินธุรกิจใน สปป. ลาว มาตั้งแต่ปี 2554 นี้ ได้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาทั้งความรู้และทักษะฝีมือแก่ครูและนักเรียนอาชีวศึกษา โดยเฉพาะในสาขาเชื่อมโลหะ ซ่อมบำรุงทั่วไป เครื่องกล ไฟฟ้าควบคุม และพลังงานทดแทน ให้มีความทันสมัยและสอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้ดียิ่งขึ้น จากการประเมินผลโครงการฯ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 กรมอาชีวศึกษามีจำนวนครูที่ได้รับอบรมพัฒนาศักยภาพรวมจำนวน 118 คน มอบทุนการศึกษาแก่ครูและนักเรียนสำหรับการศึกษาต่อรวม 51 ทุน พัฒนาและปรับปรุงห้องฝึกปฏิบัติการของโรงเรียนเทคนิคให้ทันสมัยรวม 7 แห่ง และมีนักเรียนชั้นปีสุดท้ายจากวิทยาลัยเทคนิค 7 แห่ง ที่ได้รับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะฝีมือก่อนจบการศึกษาเพื่อออกไปประกอบอาชีพในสาขาเป้าหมายรวม 1,646 คน ที่สำคัญคือ นักเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ หลังจบการศึกษาได้งานทำ ได้ศึกษาต่อ รวมถึงเป็นผู้ประกอบการรายย่อยเอง ซึ่งผลการประเมินการดำเนินโครงการระยะที่ 2 มีนักเรียนที่มีงานทำและศึกษาต่อ รวมร้อยละ 88.15 ซึ่งบุคลากรเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของ สปป. ลาว ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น
สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 3 ได้ปรับวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ สปป. ลาว สถานการณ์ของโลก และบริบทของสังคมด้วย โดยจะมุ่งเน้นการสร้างเสริมฐานการเรียนรู้และการฝึกปฏิบัติให้ทันกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งยกระดับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคนิค ทักษะต่างๆ ตลอดจนทัศนคติการทำงานให้กับนักเรียน เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีผลิตภาพและสอดคล้องกับความคาดหวังของตลาดแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมพลังงาน รวมทั้งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะด้านพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากปัจจุบันการเลือกเรียนสายอาชีวศึกษามีแนวโน้มสูงขึ้น เพราะมีตำแหน่งงานเปิดกว้างรองรับ และตลาดกำลังขยายตัวสูงขึ้นตามความมุ่งมั่นของสากลที่มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593
โครงการฯ จะมีการสานต่อและยกระดับคุณภาพจากดำเนินงานระยะที่ 2 ที่ได้เริ่มจัดตั้งให้วิทยาลัยอาชีวศึกษาแขวงคำม่วน สปป. ลาว เป็นศูนย์การเรียนรู้และต้นแบบการเรียนการสอนสาขาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ได้แก่ พืชพลังงาน พลังงานจากขยะ และพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเฉพาะการติดตั้งและซ่อมบำรุงอุปกรณ์ระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจะดำเนินการขยายโอกาสการฝึกทักษะฝีมือให้กับกลุ่มคนที่อยู่นอกภาคการศึกษาต่อเนื่อง โดยเป็นการจัดฝึกอบรมระยะสั้นด้านเกษตรกรรม หัตถกรรมให้แก่กลุ่มคนเปราะบางต่าง ๆ เช่น นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผู้พิการ ผู้ต้องหาชั้นดีที่ใกล้พ้นโทษ เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพที่จะมาสร้างสรรค์สังคมและขับเคลื่อนประเทศร่วมกัน
ส่งข่าวได้ที่ email : saowaporn12345@gmail.com และ bat_mamsao@yahoo.com