“บุญรักษ์”เผยมีอีกหลายโครงการที่กำลังจะยุติการดำเนินงาน แล้วกลับไปใช้งบฯ ปกติแทน ระบุตั้งงบฯปี2561รอไว้400กว่าล้านช่วยเหลือโรงเรียนขั้นวิกฤตต่อไป
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) แถลงข่าวการยกเลิกโครงการยกระดับคุณภาพโรงเรียน ที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน หรือไอซียู ว่า การยกเลิกโครงการไอซียู เป็นไปเช่นเดียวกับโครงการอื่น ๆ ซึ่งเมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งถ้าเห็นว่าการดำเนินการสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างปกติ ก็สิ้นสุดโครงการฯ เพียงแต่โครงการอื่น ๆ ที่สิ้นสุดไปนั้นไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ โดยเร็ว ๆ นี้ จะมีการประกาศสิ้นสุดโครงการฯ ที่ทำมาเป็นเวลานานอีกหลายโครงการฯ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระครู เปิดโอกาสให้โรงเรียนมีอิสระคิดโครงการของตนเอง ให้ตอบโจทย์ตามความต้องการของเด็ก ไม่ใช่มานั่งทำโครงการเดิม ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น และครูมีเวลาไปพัฒนาการเรียนการสอน โดยแนวทางของ สพฐ.จากนี้จะไม่มีการเพิ่มโครงการฯ แต่จะเพิ่มกลไกในการพัฒนาตนเองให้กับโรงเรียน ส่วนจะยกเลิกโครงการฯ ใดบ้างนั้นขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการโรงเรียนไอซียู เป็นนโยบายของ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเมื่อเข้ามารับตำแหน่ง ก็มีข้อมูลว่า มีโรงเรียนที่มีปัญหาจนแทบจะจัดการเรียนการสอน ในพื้นที่ห่างไกลมีอยู่จำนวนมาก โดยมีปัจจัยและสาเหตุหลายอย่าง โดยส่วนใหญ่เป็นปัจจัยด้านกายภาพ เช่น อาคารเรียน อาคารประกอบทรุดโทรม ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอน บุคลากร ไม่มีไฟฟ้าใช้ หรือบางแห่งใช้เซลล์แสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ แต่อุปกรณ์ชำรุด เราก็เข้าไปช่วยปัญหาเพื่อให้ครูมีไฟฟ้าใช้
ดังนั้น การดำเนินโครงการจึงแบ่งกลุ่มระดับวิกฤต จำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการพัฒนา โดยมีโรงเรียนที่ฉุกเฉิน 2,253 โรงเรียน เร่งด่วน 1,923 โรงเรียน ไม่ฉุกเฉิน 865 โรงเรียน รวมทั้งหมดที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนไอซียู จำนวน 5,032 โรงเรียน ในจำนวนนี้มีโรงเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือด้านกายภาพ ปี 2560 จำนวน 1,964 ในจำนวนโรงเรียนที่ได้รับความช่วยเหลือจากงบประมาณของสพฐ. 896 โรงเรียน ใช้งบฯ 416 ล้านบาท และงบฯ ที่ได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชน จำนวน 1,068 โรงเรียน ใช้งบฯ 29 ล้านบาท
“การยกเลิกโครงการฯ เป็นเรื่องของการบริหารไม่เกี่ยวข้องกับงบฯ เพราะแม้ไม่มีโครงการนี้ สพฐ. ก็ต้องให้ความช่วยเหลือโรงเรียนอยู่แล้ว และรัฐบาลไม่ได้ห้ามให้ทำโครงการนี้ เพียงแต่เราอยากจะพาโรงเรียนก้าวเดินไปข้างหน้า ซึ่ง นพ.ธีระเกียรติ เองก็เข้าใจ สิ่งที่ สพฐ.ได้ดำเนินการกับ 5,032 โรงเรียน เราได้เลือกดำเนินการกับโรงเรียนที่วิกฤตที่ติดขัดจริง ๆ ซึ่งใช้งบฯ จาก สพฐ. และงบจากเอกชนที่สนับสนุนมาดำเนินการแก้ปัญหา
และแม้จะสิ้นสุดโครงการโรงเรียนไอซียูแล้ว การแก้ปัญหาให้โรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็ยังดำเนินต่อไป ในลักษณะโครงการปกติ ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 ได้เตรียมงบฯ ช่วยเหลือไว้เพิ่มเติมแล้ว จำนวน 440 ล้านบาท
โดยเท่าที่ดูยังเหลือโรงเรียนวิกฤตอยู่ประมาณ 400 กว่าโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ในแผนการที่จะเข้าไปสนับสนุนช่วยเหลือให้โรงเรียนจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ เหตุที่ประกาศยุติ เพราะเห็นว่าโรงเรียนของเราไม่ได้อยู่ในสภาพที่วิกฤตแล้วสามารถเดินหน้าต่อไปได้แล้ว
ดังนั้น เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณในการดูแลเรื่องกายภาพ และบุคลากร ไปอยู่ในเกณฑ์ปกติเหมือนโรงเรียนทั่วไปและให้ 30,000 โรงเรียน ได้รับการดูแลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เรากำลังจะพัฒนาไปสู่การยกระดับคุณภาพลดความเหลื่อล้ำ ก้าวนำสู่คุณภาพ โดยใช้หลักในการบริหารช่วย เป็นกลไก เช่นให้โรงเรียนที่เก่งจับคู่พัฒนาโรงเรียนที่อ่อนกว่า”เลขาธิการกพฐ. กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ