นำร่อง สพป.ขอนแก่น-กระบี่ ลดใช้พลังงาน-จัดการขยะในโรงเรียน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาราชการแทน เลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังประสบปัญหาปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2559พบว่ามีปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศ ประมาณ 600,000 กว่าตัน เฉลี่ยคนไทยสร้างขยะคนละกว่า 7 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่ง ครม.ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมีมติเห็นชอบ แผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ตามแนวทางประชารัฐ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2559-2560) ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 และยังเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี(พ.ศ.2560-2579) ในยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิต ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จึงจัดทำโครงการสร้างจิตสำนึกการบริหารจัดการขยะ, การลดปริมาณขยะ, การใช้ประโยชน์จากขยะและน้ำเสียจากขยะ ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ.สู่ชุมชน โดยมีเป้าหมายสร้างโรงเรียนต้นแบบสิ่งแวดล้อม จำนวน 15,000 แห่ง
“โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกลดปริมาณขยะในสถานศึกษาให้ได้มากที่สุด สร้างองค์ความรู้ จิตสำนึกการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ และยังเป็นการสร้างวินัยด้านการบริหารจัดการขยะในโรงเรียน แก่นักเรียนทุกระดับชั้น อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้จัดสร้างศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงาน การจัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขึ้น 2 แห่งเพื่อเป็นการนำร่อง ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.) ขอนแก่น เขต 3 และที่ สพป.กระบี่ โดยจะมีการเปิดตัวศูนย์ทั้ง 2แห่งเร็วๆ นี้”นายบุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ