สพฐ.สั่งโรงเรียนเช็ก”อาหารกลางวัน”ภายใน 3 วัน
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า ตนได้สั่งการให้นายสนิท แย้มเกษร ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ลงนามในหนังสือถึงผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาการประถมศึกษา(สพป.) ทุกเขต เพื่อซักซ้อมความเข้าใจในการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน และรายงานข้อมูลต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และเลขาธิการ กพฐ. ภายในวันพุธที่ 13 มิ.ย.61 ดังนี้
1.สำรวจการโอนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันจากทุกโรงเรียนเฉพาะภาคเรียนที่ 1/2561 ดังนี้ 1.1 โรงเรียนได้รับโอนเงินงบฯ จัดสรรค่าอาหารกลางวันสำหรับภาคเรียนที่ 1/2561 หรือยัง กรณีที่ได้รับช้ากว่าวันเปิดภาคเรียนได้รับเมื่อใด หรือถ้ายังไม่ได้รับการโอนเงินงบฯ โรงเรียนดำเนินการอย่างไร (กรณีที่ได้รับงบฯ ช้าหรือยังไม่ได้รับโอนเงินงบฯ ให้ระบุด้วยว่าโรงเรียนนั้นๆ อยู่ในพื้นที่ที่ต้องได้รับจัดสรรและโอนงบฯ จากหน่วยงานใด ระบุอำเภอ และจังหวัดด้วย 1.2 กรณีงบฯ โอนช้า หรือยังไม่ได้รับการโอนงบฯ โรงเรียนได้จัดอาหารกลางวันให้นักเรียนหรือไม่ ถ้าจัดอาหารกลางวัน มีวิธีการในการบริหาร หรือจัดหางบฯ มาดำเนินการอย่างไร 1.3 ให้รายงานข้อมูลตามข้อ 1.1 และ 1.2 โดยให้ทุกเขตพื้นที่ฯ และสายงานการศึกษาพิเศษ รวบรวมข้อมูล ส่งที่ สพป.เขต 1 ของทุกจังหวัด และให้ผอ.สพป.เขต 1 รายงานข้อมูล ผู้ว่าราชการจังหวัด และเลขาธิการ กพฐ. ภายในวันที่13 มิ.ย.61 ซึ่ง สพฐ.จะรวบรวมข้อมูลรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปโดยเร็ว
2.ให้ ผอ.สพท.และผู้บริหารสายงานการศึกษาพิเศษ รายงานการสำรวจสภาพการดำเนินการอาหารกลางวัน ที่ สพฐ.ที่ได้สั่งการแล้วให้ติดตาม ตรวจสอบทุกโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.61 โดยให้รายงานภายในวันที่ 13 มิ.ย.61 เช่นเดียวกัน โดยประเด็นการรายงานมี ดังนี้ 2.1 จำนวนโรงเรียนในเขตพื้นที่ 2.2 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับจัดสรรงบฯ ค่าอาหารกลางวัน 2.3 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการโอนเงินงบฯ ค่าอาหารกลางวัน ก่อนวันที่ 16 พ.ค.61 2.4 จำนวนโรงเรียนที่ได้รับการโอนเงินงบฯ ค่าอาหารกลางวันแล้ว แต่หลังวันที่ 16 พ.ค.61 2.5 จำนวนโรงเรียนที่ยังไม่ได้รับการโอนเงิน ณ วันที่ 11มิ.ย.61 2.6 จำนวนโรงเรียนที่ถูกร้องเรียน และปรากฎข่าวในสื่อมวลชน และผลการตรวจสอบข้อเท็จจริง มีมูลหรือไม่มีมูล 2.7 จำนวนโรงเรียนที่ตรวจสอบแล้ว มีปัญหาการดำเนินการกี่โรงเรียน สพท.ได้แก้ปัญหาอย่างไร 2.8 จำนวนโรงเรียนที่ดำเนินการได้ดี สมควรยกย่องชื่นชมให้เป็นต้นแบบ พร้อมแนวทางที่เป็นความสำเร็จของแต่ละโรงเรียน
และ 3.ข้อเสนอแนะในการพัฒนาโครงการอาหารกลางวันจากโรงเรียน และชุมชนที่เกี่ยวข้อง
“ให้ทุกโรงเรียนตรวจสอบงบฯ อาหารกลางวัน ภายใน 3 วัน ซึ่งต้องการรู้ว่าได้ก่อนเปิดเทอม หลังเปิดเทอมถึงตอนนี้มีอยู่เท่าไหร่ โดยที่ให้ตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย. ว่าพบโรงเรียนมีปัญหากี่โรงเรียน สภาพปัญหาเป็นอย่างไร โรงเรียนดีเด่นเหมาะเป็นต้นแบบมีกี่โรง เพราะตอนนี้มีข้อมูลร้องเรียนเข้ามามาก บางเรื่องจริง บางเรื่องไม่จริง ในไลน์มีครูตัดพ้อว่า ที่ผ่านมาเขาพยายามทำเต็มที่ บางทีเปิดเทอม ยังไม่ได้เงินก็แก้ปัญหาไปก่อน ดังนั้น สพฐ.ต้องการตรวจสอบให้ได้ข้อมูลแท้จริง แล้วจะได้แก้ไขต่อไป”นายบุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ