“เพิ่มเวลารู้”เน้นแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง-ปรับเนื้อหาวิทย์-คณิตอิงสสวท.
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตนได้หารือกับผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมอบหมายให้ดำเนินการปรับหลักสูตร โดยจะเพิ่มวิชาไอซีที การออกแบบเทคโนโลยี ในชั้นมัธยมศึกษา และวิชาภูมิศาสตร์ จะใช้หลักสูตรวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ใหม่ ที่จัดทำหลักสูตรโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
อย่างไรก็ตาม การปรับหลักสูตรครั้งนี้ไม่ใช่การปรับใหญ่ แต่เป็นการปรับเนื้อหาให้มีความทันสมัยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังหารือเรื่องการดำเนินการตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ซึ่งจะไม่มีการยกเลิก แต่จะเพิ่มจุดเน้นสำคัญตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะให้โรงเรียนใช้ช่วงเวลาดังกล่าว จัดกิจกรรมที่ที่กระตุ้นการเรียนรู้ หรือแอคทีฟ เลิร์นนิ่ง และใช้ช่วงเวลาดังกล่าว ทำตามที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงให้คำแนะนำ 2 เรื่อง คือให้เพื่อนช่วยเพื่อน และให้เพื่อนที่เก่งกว่าช่วยเพื่อนที่อ่อนกว่า ที่สำคัญที่สุดคือให้ครูจัดกิจกรรมเป็นกลุ่มให้เด็กได้เห็นคุณค่าความสามัคคี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังหารือเรื่องการคัดเลือกโรงเรียนไอซียู ซึ่งหมายถึงตนจะลงไปดูแลโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างจริงจัง เป็นนโยบายที่ให้การปฏิรูปการศึกษาเกิดขึ้นในระดับโรงเรียน โดยให้ สพฐ.สำรวจโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือ จำนวน 3,000 โรงเรียน กระจายทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยขอให้ดูในภาพรวม ไม่ใช่เลือกจากโรงเรียนที่คะแนนการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) ต่ำเพียงอย่างเดียว แต่ขอให้ดูปัญหาเรื่องกายภาพ การขาดแคลนครู รวมถึงโรงเรียนที่มีปัญหานักเรียนลาออก เพราะผู้ปกครองไม่ไว้ใจส่งบุตรหลานมาเรียน
จากนั้น สพฐ.จะต้องวินิจฉัยว่าโรงเรียนแต่ละแห่ง ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องใด ไม่ใช่การตัดเสื้อตัวเดียวใช้ด้วยกันทั้งหมด โรงเรียนไหนขาดอะไรก็ช่วยดูแลตามนั้น ทำให้เต็มที่ โดยโรงเรียนไอซียู ต้องเป็นโรงเรียนคนละกลุ่มกับโรงเรียนประชารัฐ และโรงเรียนดีใกล้บ้าน โดยเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกโรงเรียนจะต้องมีความยืดหยุ่น และไม่ใช้มาตรวัดอันเดียวกัน
“โครงการโรงเรียนไอซียู จะเริ่มดำเนินการทันทีปี 2560 นี้ ภายใน1ปีนี้ โรงเรียนไอซียูทั้ง 3,000 โรงเรียน จะต้องดีขึ้น และจะเพิ่มขึ้นอีก 3,000 โรงเรียนในปีถัดไป เชื่อว่าสามารถทำได้ เรื่องนี้เท่ากับเป็นการพัฒนาการศึกษา ที่ลงไปถึงระดับล่างและ เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแท้จริง” นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ