ยึดประโยชน์เด็กเป็นหลัก-เตรียมชงก.ค.ศ.พิจารณาอนุมัติ ก่อนเปิดรับสมัคร 21 พ.ค.นี้
เมื่อวันที่ 29 เม.ย.2561 นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ สภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) มีข้อกังวลเรื่องการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกำหนดรับสมัครเดือน พ.ค.2561จัดสอบโดยส่วนกลาง หรือ สพฐ. และให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต (มสด.) เป็นผู้ออกข้อสอบ โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จะผ่านมติให้เปิดให้ผู้ที่จบสาขาอื่นมาสอบในสาขาขาดแคลน โดยไม่สอบถามความเห็นจากสถาบันฝ่ายผลิต ว่า
จากการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งล่าสุด มีหลักเกณฑ์ว่าการกำหนดสาขาขาดแคลนต้องสำรวจจากพื้นที่มาก่อน และต้องมาดูภาพรวมว่าขาดแคลนทั้งประเทศหรือไม่ เพราะถ้าขาดแคลนเฉพาะพื้นที่อาจกำหนดให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในพื้นที่ดังกล่าว ประกาศเป็นบัญชีขาดแคลนเฉพาะพื้นที่ แต่ถ้าเป็นขาดแคลนทั้งประเทศก็ต้องประกาศเป็นมติภาพรวม เช่น จ.ชลบุรี มีผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ค.ศ. สะท้อนว่าเปิดรับวิชาเอกนาฏศิลป์แต่ไม่มีคนสอบ เพราะสถาบันผลิตในพื้นที่อาจไม่เปิดสอนเอกนาฏศิลป์ ดังนั้น จ.ชลบุรี อาจประกาศให้เอกนาฏศิลป์เป็นสาขาขาดแคลน ซึ่งต้องมาดูว่าจะยกเว้นให้ผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู สามารถสอบครูผู้ช่วย ได้หรือไม่ ทั้งนี้ในการประชุม ก.ค.ศ.ครั้งต่อไป สพฐ.จะสรุปข้อมูลและเสนอให้ ก.ค.ศ. พิจารณาอนุมัติเปิดสอบ โดย สพฐ.จะประกาศรับสมัครครูผู้ช่วย ในวันที่ 21 พ.ค.2561 ดังนั้นทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย ก่อนวันประกาศรับสมัคร
“ผมจะนำเรื่องนี้หารือกับ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา, ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงาน ก.ค.ศ. เพื่อวางแนวทางสำรวจข้อมูล ทั้งสาขาที่ขาดแคลนซ้ำซาก ไม่มีครู ไม่มีใครย้ายไป และสำรวจว่าในพื้นที่มีมหาวิทยาลัยใด ที่ผลิตในสาขาที่ขาดแคลนดังกล่าวบ้าง หรืออยู่ระหว่างการผลิตแต่ยังไม่จบ โดยจะขอให้ กศจ.ส่งข้อมูลมาแล้วเชิญคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มาประชุมเพื่อให้มีความเห็นร่วมกันว่าเป็นสาขาขาดแคลนเฉพาะพื้นที่หรือสาขาขาดแคลนภาพรวมทั้งประเทศ”
นายบุญรักษ์ กล่าวและว่า การจะเปิดกว้างให้ผู้ที่ไม่ได้จบครูมาสอบด้วยหรือไม่นั้น คิดว่าน่าจะมี เพราะการสอบครูผู้ช่วยปีที่ผ่านมา ยังเปิดโอกาสให้สอบได้ปีนี้ก็ต้องมี แต่คิดว่าน้อยมากเพราะเป็นสาขาขาดแคลนจริงๆ ไม่มีคนมาสมัคร เช่น จิตวิทยาคลิกนิก คนที่จบสาขานี้ไม่ใบอนุญาตฯ ก็ต้องเปิดสอบ เพราะขณะนี้โรงเรียนเปิดสายอาชีพค่อนข้างมาก และคนที่จบในสาขาเหล่านี้ไม่ได้เตรียมตัวมาเป็นครู ดังนั้น ต้องมีช่องทางให้เขาสามารถเข้ามาเป็นครูได้ อย่างไรก็ตาม สพฐ.เลือกเปิดสอบสาขาขาดแคลนตามประโยชน์ของเด็กไม่ใช่ตามประโยชน์ของใคร
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ