สพฐ.เก็บข้อมูลพัฒนาเด็กพื้นฐาน เตรียมแผนจัดงบฯดูแลเต็มที่สวัสดิการครู-เน็ตความเร็วสูง
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ร่วมกับ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ, รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ., นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานกรรมการ กพฐ. พร้อมด้วยผู้แทนมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อดูการจัดการศึกษาของโรงเรียนบนเกาะ จ.สตูล ว่าเนื่องจากที่ผ่านมาการมอบนโยบายแก่สถานศึกษา สพฐ.จะให้เป็นนโยบายกลาง ๆ ซึ่งยอมรับว่าหลายนโยบายอาจจะไม่ตรงกับบางพื้นที่หรือใช้ไม่ได้จริง ทำให้การดูแลอาจไม่ทั่วถึง
ดังนั้น การลงพื้นที่ก็เพื่อให้ได้เห็นสภาพที่แท้จริงในการจัดการศึกษาของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน โดยก่อนหน้านี้ก็ได้ไปดูโรงเรียนบนพื้นที่สูงมาแล้ว ส่วนครั้งนี้เป็นการมาดูโรงเรียนบนเกาะ ก็ทำให้เห็นสภาพที่แตกต่างกันซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางนโยบายการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดประโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
“จากการลงพื้นที่ 2 ครั้ง ทำให้เห็นความชัดเจนมากขึ้นว่า โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ทั้งโรงเรียนบนพื้นที่สูงและโรงเรียนบนเกาะมีปัญหาเรื่องของไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นและสำคัญมากที่ สพฐ.จะต้องดูแล โดยพบว่าหลายโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์ แต่ไม่มีไฟฟ้า ต้องใช้เครื่องปั่นไฟหรือโซล่าเซลล์ ซึ่งทำให้มีปัญหาตามมาคือ กระแสไฟฟ้าเดินไม่เสถียรทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย จึงเป็นอุปสรรคหนึ่งในการขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ ศธ.ต้องการให้ทุกโรงเรียนในประเทศไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตภายในปีนี้ อาจได้ไม่เต็มที่100%”
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า นอกจากนี้อีกเรื่องที่มักถูกมองข้ามอยู่เสมอ คือการจัดสรรงบประมาณ เนื่องจากการจัดสรรงบฯ ที่ผ่านมาจะใช้ระบบเท่ากันทั้งหมดทุกพื้นที่ แต่วันนี้เห็นว่าโรงเรียนที่ห่างไกล มีค่าบริหารจัดการสูงมาก เช่น ค่าเดินทางไปประชุมของผู้บริหารและครู ซึ่งการได้สัดส่วนที่เท่ากันโดยไม่คำนึงถึงบริบทของพื้นที่ ทำให้เป็นภาระของครูและผู้บริหารค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น สพฐ.จะต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องนี้อีกครั้ง ถึงแม้จะมีการจัดสรรเงินหรือเงินท็อปอัพให้กับโรงเรียนขนาดเล็ก ตามจำนวนนักเรียน หัวละ500บาทแล้ว ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้การบริหารการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ
ดร.บุญรักษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องของสวัสดิการครูที่อาจต้องให้การดูแลเพื่อขวัญกำลังใจให้มากขึ้น เนื่องจากหลายพื้นที่ครูต้องเดินทางไกลระหว่างที่พักกับโรงเรียน โดย สพฐ.จะกลับมาศึกษาบริบทของโรงเรียนทั่วประเทศอีกครั้ง เพื่อรวบรวมข้อมูลและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน นำเสนอคณะกรรมการ กพฐ.ให้ช่วยพิจารณา และให้คำเสนอแนะอีกครั้ง ก่อนเสนอ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณา เพื่อผลักดันให้รับการจัดสรรงบฯ ส่วนนี้ด้วย
ม.ล.ปริยดา กล่าวว่า ในฐานะมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ลงมาดูว่าการเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตและการับสัญญาณดาวเทียมในระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีประสิทธิภาพหรือไม่ ซึ่งก็พบว่าส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีสัญญาณ ขณะที่บางพื้นที่ก็รับสัญญาณได้ดีมาก ซึ่งคณะทำงานจะรวบรวมข้อมูลสรุปเสนอ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณา
ด้านนายปิยะบุตร กล่าวว่า สภาพปัญหาการจัดการศึกษาของเราแตกต่างกันมาก โดยโรงเรียนขนาดเล็กก็เป็นปัญหาหนึ่งที่บอร์ด กพฐ.ก็ให้ความสำคัญ แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาการจัดการศึกษาของประเทศไทยยังมีอีกหลายด้าน ซึ่งการลงพื้นที่ทำให้พอมองเห็นสภาพที่แท้จริงมากขึ้น และจะสามารถนำมาเป็นแนวทางให้คำเสนอแนะแก่สพฐ.เพื่อให้การจัดการศึกษาของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ