พบกว่า600แห่งมีปํญหาคุณภาพ ขณะที่โรงเรียนใต้น้ำท่วมมีงบฯรอซ่อมแล้ว
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้มอบหมายให้โรงเรียนที่ไม่เป็นโรงเรียนประชารัฐประเมินสถานภาพปัจจุบันของโรงเรียน ว่า มีสภาพที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและพัฒนาอย่างเร่งด่วนหรือไม่ พร้อมเหตุผลและข้อมูลประกอบ เพื่อพิจารณาเข้าร่วมโครงการยกระดับโรงเรียนที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน หรือไอซียูนั้น
ล่าสุดมีโรงเรียนเสนอชื่อเข้าร่วมโครงการไอซียูแล้ว 4,518 โรงเรียน จากโรงเรียนสังกัด สพฐ. ทั้งหมด 30,717 โรงเรียน แบ่งเป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 4,206 โรงเรียน คิดเป็น 93.06% สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 312 โรงเรียน คิดเป็น 6.91% เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ชายขอบ 610 โรงเรียน โรงเรียนในพื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้ 368 โรงเรียน ที่เหลือเป็นโรงเรียนในพื้นที่ทั่วไป 3,540 โรงเรียน
ทั้งนี้ เมื่อจำแนกตามสภาพปัญหา พบว่าเป็นโรงเรียนที่มีปัญหาด้านคุณภาพ 679 โรงเรียน ด้านกายภาพ เช่นงบประมาณ อาคารสถานที่,วัสดุอุปกรณ์ จำนวน 2,490 โรงเรียน ด้านบุคลากร 1,040 โรงเรียน ด้านการบริหารจัดการ 103 โรงเรียน ด้านโอกาสทางการศึกษา 155 โรงเรียน และด้านอื่น ๆ 222 โรงเรียน
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ขั้นตอนจากนี้คณะทำงานคัดกรองโรงเรียนไอซียู จะวิเคราะห์ข้อมูลของแต่ละแห่งว่าเป็นโรงเรียนไอซียู ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องได้รับการแก้ไข เพื่อเรียงลำดับความสำคัญ เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งคณะทำงานที่มาจากทุกกลุ่มจังหวัด หรือคลัสเตอร์ อาจเสนอข้อมูลเพิ่มเติม สำหรับโรงเรียนที่เห็นว่า ต้องได้รับการช่วยเหลือดูแลเป็นพิเศษอย่างเร่งด่วน แต่ ผอ.โรงเรียน ไม่ได้เสนอชื่อเข้าคัดเลือก จากนั้นจะเสนอข้อมูลให้ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. ในฐานะประธานคณะทำงานฯ พิจารณาละรายเอียด ก่อนสรุปเสนอนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ให้ความเห็นชอบต่อไป
“สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ 12 จังหวัดภาคใต้ที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ที่จะถูกนำมาพิจารณาด้วยนั้น เท่าที่ดูตามสภาพปัญหาเบื้องต้น บางแห่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้การบริหารจัดการ ส่วนที่ใดต้องใช้งบฯ ปรับปรุงซ่อมแซม สพฐ.ก็พร้อมและมีงบฯ รองรับไว้แล้ว เนื่องจากโครงการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนและการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ของ สพฐ. ก็จะอยู่ในหลักเกณฑ์การพิจารณาโรงเรียนไอซียู อยู่แล้ว จึงสามารถโยกงบฯ มาใช้ในโครงการนี้ได้ทันที หากไม่พอค่อยเสนอของบฯ กลางอีกครั้ง”นายการุณ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ