จัดกิจกรรมบังคับเด็กต้องเข้าร่วม-เตรียมนำร่องเวทคณิตคิดเร็วแบบอินเดีย
นายพะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าตามนโยบายเร่งด่วนที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มอบให้ สพฐ.ดำเนินการโดยเฉพาะการปรับเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ให้มีความเข้มข้น ซึ่งในส่วนของวิชาประวัติศาสตร์ ในโครงสร้างหลักสูตรกำหนดให้นักเรียนต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่แล้ว แต่เพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้เข้มข้นขึ้น ทางสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา (สวก.) จะไปจัดทำคู่มือจัดการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์สำหรับครู และจัดหาหนังสืออ่านนอกเวลาเพิ่มเติม
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเรียนวิชาภูมิศาสตร์ นั้นยังคงอยู่ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเช่นเดิม แต่ สพฐ.จะทำหลักสูตรให้ชัดเจนขึ้น กำหนดว่าหัวใจสำคัญของเรื่องภูมิศาสตร์ที่เด็กจะต้องเรียนรู้มีอะไรบ้าง อาทิ แผนที่และภูมิศาสตร์ สภาพภูมิอาการ และภัยพิบัติ สิ่งแวดล้อมเป็นต้น รวมถึงจะกำหนดให้โรงเรียนใช้ช่วงเพิ่มเวลารู้ ตามโครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้วิชาประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์เป็นฐานด้วย
อย่างไรก็ตาม รมว.ศึกษาธิการ ต้องการให้ สพฐ.กำหนดกิจกรรมในช่วงเพิ่มเวลารู้ กิจกรรมใดเป็นกิจกรรมบังคับที่เด็กทุกคนต้องร่วม กิจกรรมใดเป็นกิจกรรมเลือก ซึ่งสพฐ.จะกำหนดให้กิจกรรมในวิชาประวัติศาสตร์ และภูมิศาสตร์ รวมถึงกิจกรรมสร้างสาธารณประโยชน์ เป็นกิจกรรมบังคับที่เด็กต้องเข้าร่วม
“สำหรับเรื่องฟื้นการท่องสูตรคูณและคิดเลขเร็ว ปกติการท่องสูตรคูณจะเริ่มตั้งแต่ชั้น ป.2 ตรงนี้จะทำให้เข้มข้นขึ้น โดยจะรื้อฟื้นให้เด็กต้องท่องสูตรคูณได้ตั้งแต่แม่ 1-แม่ 12 ส่วนระดับมัธยมศึกษา จะต้องท่องสูตรคูณได้ถึงแม่ 25เป็นต้น ส่วนการคิดเลขเร็วจะมีการแจกแบบฝึกหัดไปยังโรงเรียน และส่วนหนึ่งจะแขวนไว้บนเว็บไซต์ให้โรงเรียนดาวน์โหลดไปใช้งาน ซึ่งแบบฝึกหัดบางชุด จะแยกตามศักยภาพของนักเรียนด้วย อย่างไรก็ตาม เวลานี้ สพฐ กำลังศึกษาเกี่ยวกับเวทคณิต ซึ่งเป็นการคิดเลขเร็วแบบอินเดีย โดยกำลังจะเริ่มนำมาทดลองใช้ในบางโรงเรียน และอนาคตอาจจะขยายผลไปใช้กับโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศ”นายพะโยม กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ