สนองนโยบาย ศธ.11 ประเด็นเห็นชัดปี 60
วันที่ 26 ก.ค.59 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยถึงการประชุมผู้บริหารระดับสูง ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่า ตามที่ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบาย 11 ข้อ ในการบริหารงาน ศธ. ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ สพฐ.โดยตรงนั้น ตนได้เชิญผู้บริหารและหน่วยงานที่รับผิดชอบ มาประชุมร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณ ในปีต่อไปได้สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าว
โดยเรื่องแรก คือการพัฒนาครูให้มีศักยภาพในการสอนอย่างเต็มที่ภายใน 5 ปี ซึ่งสพฐ.ได้ทำหลายโครงการ รวมถึงโครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น โดยได้อัตราบรรจุครูในโครงการฯ กว่า 4,000 อัตรา 2.ปรับระบบการสอบ O-NET ให้เป็นที่ยอมรับ และสะท้อนคุณภาพของการจัดการศึกษา ภายในปี 2560 โดยจะจัดทำ Test Blue Print และ Item Card ร่วมกับสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และให้ครูนำผลวิเคราะห์ข้อสอบ O-NETมาปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอน 3.ฝึกให้เด็กคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาและประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ภายใน 2 ปี 4.มีการสอนสะเต็มศึกษา (STEM) ทุกโรงเรียนภายใน 5 ปี 5.นักเรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้ ภายใน 3 ปี
6.บริหารครูครบตามเกณฑ์ ภายใน 1 ปี ครูประจำชั้นครบทุกห้องภายใน 2 ปี และทำให้ครูสอนตรงสาขาวิชา ภายใน 5-10 ปี 7.ผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ โดยจัดทำฐานข้อมูลที่ทันสมัยภายใน 1 ปี ให้สถานศึกษาเปิดหลักสูตรตาม Demand Side ภายใน 10 ปี และจัดโครงการทวิภาคี-ทวิวุฒิ-ทวิศึกษา หลักสูตรอาชีพระยะสั้นในโรงเรียนสามัญ และ กศน.เป็นต้น 8.เด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 9.ผลิตคนดีสู่สังคม 10.ซ่อมบ้านพักครู ให้เสร็จภายในปี 2560 และ 11.แก้ปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทั้งนี้ ตนได้ตั้งคณะทำงานลงไปติดตามความคืบหน้าด้วย
“สำหรับประเด็นจำนวนครูต่อนักเรียนครบตามเกณฑ์ที่ ก.ค.ศ.กำหนด รวมถึงมีครูสอนตรงสาขาวิชาเอกนั้น สพฐ.ได้จัดทำมาตรฐานวิชาเอกทั้งระดับประถม-มัธยม รวมถึงการศึกษาพิเศษ และกำลังทดลองนำมาตรฐานวิชาเอกที่กำหนดไปเก็บข้อมูลครูในโรงเรียนสังกัด สพป.กทม.เขต 1 จำนวน 37 แห่ง ว่ามีผู้จบจากวิชาเอกตามสาขาวิชาที่สอนเท่าไร แล้วประมวลผลว่าแต่ละโรงเรียนมีครูวิชาใดขาดหรือเกิน เพื่อโยกย้ายให้ครบตามมาตรฐานที่กำหนด และจะนำเสนอต่อ ก.ค.ศ.ให้ออกหลักเกณฑ์การพิจารณาการโยกย้ายสับเปลี่ยนครู และขยายผลกับโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั่วประเทศต่อไป” นายการุณ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ