สพฐ.ตั้งคณะทำงานทบทวนภารกิจและปรับโครงสร้างภายในใหม่ ให้สอดรับยุทธศาสตร์ ศธ. อาจควบรวมบางหน่วยงานเพื่อประสิทธิภาพและส่งผลถึงภูมิภาคมากขึ้น ชงตั้ง “สำนักพัฒนาครู”
ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยความคืบหน้าการปรับโครงสร้างสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ว่านายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการ กพฐ.ได้ลงนาม แต่งตั้งคณะทำงานทบทวนภารกิจและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายใน สพฐ.
และขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนภารกิจและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายใน สพฐ. ให้เป็นไปตาม พรฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 และพิจารณากำหนดหน้าที่และขอบเขตความรับผิดชอบของสำนักภายใน สพฐ.ให้มีความสอดคล้องเหมาะสมกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และยุทธศาสตร์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาให้เกิดคุณภาพ
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมผู้บริหาร สพฐ.ได้มีการหารือเรื่องการทบทวนภารกิจและโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายใน สพฐ. ซึ่งเดิมมีสำนักตามโครงสร้าง12 สำนัก แต่มีการแยกตามภารกิจตามความจำเป็นในแต่ละช่วง จนมีถึง 22 หน่วยงาน ที่ประชุมเห็นว่ามีมากเกินไปสมควรที่จะควบรวมหน่วยงานให้น้อยลง เพื่อให้งานเกิดประสิทธิภาพและส่งผลไปยังภูมิภาคมากขึ้น โดยเบื้องต้นที่ประชุมเห็นว่า 12 สำนักตามโครงสร้าง สพฐ.เดิมจะยังคงอยู่ แต่ที่จะเพิ่มสำนักบริหารงานการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย และหน่วยศึกษานิเทศก์นั้น
ที่ประชุมเห็นด้วยกับการมีหน่วยศึกษานิเทศก์ในส่วนกลาง ขณะที่สำนักบริหารงานการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ควรจะตั้งเป็นสำนักส่งเสริมคุณภาพการศึกษาเพื่อดูแลโรงเรียนได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา นอกกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะหลอมรวมหน่วยงานที่เกี่ยวกับกิจการนักเรียน ตั้งเป็นสำนักกิจการนักเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวกับการพัฒนาครูตั้งเป็นสำนักพัฒนาครูด้วย
อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้าง สพฐ.ดังกล่าวยังไม่ใช่ข้อสรุป เป็นเพียงแนวคิดของที่ประชุมผู้บริหาร สพฐ.ซึ่งหลังจากนี้จะนำแนวคิดดังกล่าวเสนอต่อคณะทำงานทบทวนภารกิจและโครงสร้างฯ ที่มีเลขาธิการ กพฐ.เป็นประธาน เพื่อหาข้อสรุปก่อนที่จะนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ