สพฐ.เสริมการอ่านนักเรียน นำสู่ความรู้-ฝึกคิดลงมือทำ
นายณรงค์ แผ้วพลสง รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ ผ่านระบบทางไกล VDO Conference DLTV ช่อง 14 OBEC Channel ในรายการ “พุธเช้าข่าว สพฐ.” ครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการชี้แจงถึงความจำเป็นที่ต้องมีการประชุมด้วยระบบดังกล่าวทุกสัปดาห์ เนื่องจาก สพฐ.เป็นหน่วยงานใหญ่ มีบุคลากรจำนวนมาก การสื่อสารสั่งการอาจทำได้ไม่ทั่วถึง
ดังนั้น การประชุมด้วยวิธีนี้จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะสามารถสื่อสารกันได้ในพื้นที่ทุกกลุ่ม และเขตพื้นที่ฯ ก็สามารถมานำเสนอผลงานของสถานศึกษา หรือผลจากการปฏิบัติงานตามนโยบายในการประชุมได้ทันที หากมีข้อสงสัย หรือติดขัดหรือความไม่ชัดเจนในข้อสั่งการก็สามารถหารือและทำความเข้าใจได้ อีกทั้ง การจัดประชุมรูปแบบดังกล่าวเป็นการลงทุนน้อย แต่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกคน ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถรับรู้ รับฟังได้ และเสนอความเห็นได้ด้วย
“การประชุมวันพุธแรก ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการ กพฐ. มีนโยบายให้เน้นเรื่องของศาสตร์พระราชา ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงทุกสัปดาห์ในรายการ ‘ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ โดยนำประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไปถ่ายทอดให้ครูได้รับทราบอีกครั้งหนึ่ง เพราะครูอาจจะไม่มีเวลาได้รับฟัง พร้อมทั้งย้ำเรื่องการเตรียมความพร้อมของครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัด ในการร่วมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 26 ตุลาคม 2560นี้ โดยขอให้ซักซ้อมความเข้าใจแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องและเตรียมตัวให้พร้อม”
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวและว่า สำหรับเรื่องการนำศาสตร์พระราชา ไปสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนนั้น ดร.บุญรักษ์ เน้นย้ำเรื่องกิจกรรมที่ให้เด็กได้ลงมือทำ สัมผัสจริง ซึ่งครูและผู้บริหารโรงเรียน ต้องช่วยกันออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วย
และอีกเรื่องที่สำคัญที่นายกฯ ฝากไว้ คือเรื่องการอ่าน เนื่องจากปัจจุบันเด็กไทย มีปัญหาการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านข้อความ หรือประโยคยาว ๆ เพราะเด็กทุกวันนี้จะชอบอ่านอะไรที่สั้นกระชับ แต่บางครั้งไม่มีอรรถรสทางภาษา ทำให้ไม่เข้าใจในเจตนารมณ์และความลึกซึ้งของผู้เขียน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง ดังนั้น สพฐ.จะต้องเร่งหาทางแก้ปัญหาให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยเขตพื้นที่ฯ โรงเรียน ผู้บริหาร และครูจะต้องให้ความร่วมมือ สพฐ.พร้อมสนับสนุนหนังสืออ่านเสริม เพื่อส่งเสริมให้เด็กอ่านมากขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ