สพฐ.ไม่ขัดตั้งสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนฯแห่งชาติ ‘บุญรักษ์’ เผยสพฐ.ลดบทบาทปรับแผนงานให้เขตพี้นที่เป็นฐาน-ผลักดันงบฯประจำเขตพื้นที่จัดสรรลงสถานศึกษาได้ทันที
ตามที่คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน ในคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)ได้เสนอให้ที่ประชุม กอปศ. พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)สถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ เพื่อให้มีการจัดตั้งสถาบันหลักสูตร การเรียนการสอน และทรัพยากรการเรียนรู้แห่งชาติ มาทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการพัฒนาหลักสูตรแกนกลางในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่ปฐมวัย-ม.ปลาย พัฒนาวิธีการจัดการเรียนการสอน การนำหลักสูตรไปใช้ การวัดและประเมินผล รวมทั้งพัฒนาคลังทรัพยากรการเรียนรู้ทั้งสื่อและผู้เรียน จัดหมวดหมู่สื่อดิจิทัล หนังสือ และสื่อรูปแบบอื่น ๆ อย่างครบวงจรและถูกต้อง ตลอดจนทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งสถาบันดังกล่าวจะเป็นนิติบุคคล มีความอิสระนั้น
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าสถาบันดังกล่าวจะเป็นการตั้งขึ้นมาใหม่ หรือโอนหน่วยงาน แต่อย่างไรก็ตาม สพฐ.ก็ยังต้องมีหน่วยปฏิบัติ เช่น สำนักทดสอบทางการศึกษา เพื่อรองรับการขับเคลื่อนงานด้านการประเมินและทดสอบผู้เรียน ทั้งนี้ ตนไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งกับ กอปศ. แต่กลับเห็นเป็นการดีด้วยซ้ำที่จะมีคนมาคิดเรื่องที่เป็นมาตรฐานให้ ซึ่งจะทำให้งานเดินหน้าได้เร็วขึ้น เพราะขณะนี้ สพฐ.ทำหน้าที่ทั้งฝ่ายปฏิบัติและฝ่ายกำหนดนโยบาย บางครั้งก็ทำไม่ได้สมบูรณ์ทั้งหมด ดังนั้นถ้ามีสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นมาคิดทำหลักหลักสูตร เหมือนสมัยก่อนที่มีกรมวิชาการ แล้วมีกรมสามัญศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการประมศึกษาแห่งชาติ(สปช.) นำงานของกรมวิชาการมาขับเคลื่อนสู่โรงเรียน
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ตอนนี้ สพฐ.กำลังลดบทบาทจากการเป็นคนคิด กำหนดนโยบาย มาเป็นฝ่ายปฏิบัติ ซึ่งกำลังออกแบบการทำงานในอนาคตโดยเราจะใช้พื้นที่การศึกษาเป็นฐานจริง ๆ กำลังผลักดันให้มีงบฯ ประจำเขตพื้นที่ฯ ซึ่งโรงเรียนจะสามารถขอรับการสนับสนุนได้เลย เพราะในอดีตเขตพื้นที่ฯ ไม่ได้มีงบฯ ของตัวเอง แต่ต่อไปจะต้องมีพื้นที่บริหารจริง ๆ เพราะฉะนั้นตนจึงเห็นด้วยที่จะมีการตั้งสถาบันหลักสูตรการเรียนการสอน
“ปีนี้แม้เราจะไม่ได้จัดงบฯ รองรับ แต่ความต้องการทั้งหมดจะมาจากข้างล่าง การจัดสรรงบฯ ถ้าโรงเรียนไม่มีเหตุผลเพียงพอในการของบฯ สพฐ.จะไม่จัดงบฯ ลงไปให้ เพราะอยากให้อำนาจการปฎิบัติอยู่ที่เขตพื้นที่ฯ และถ้าผลักดันเรื่องนี้ได้สำเร็จ เราจะมีงบฯ ลงไปในเขตพื้นที่ฯ กว่า 2,000 ล้านบาท สพฐ.เองจะเหลืองบฯ อยู่ที่ส่วนกลางไม่เท่าไหร่ และในการใช้จ่ายงบฯ เขตพื้นที่ ผมได้ตั้งคณะกรรมการติดตามตรวจสอบเป็นรายโครงการด้วย” ดร.บุญรักษ์ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ