วันที่ 8 กันยายน 2566 ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ลงพื้นที่ติดตามการพัฒนาผู้เรียนและสถานศึกษาต้นแบบตามแนวทางการแนะนำของ สมศ. ที่โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ โดยมีคณะผู้บริหาร สมศ. คณะผู้บริหาร อาจารย์ นักเรียน และบุคลากรโรงเรียนศรีสังวาลย์เข้าร่วม
ดร.นันทา กล่าวว่า เหตุผลที่เลือกโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ เป็นสถานศึกษาต้นแบบ เนื่องจากเป็นโรงเรียนเฉพาะความพิการตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ผ่านการประเมินตามเกณฑ์มาตรฐานของ สมศ. พร้อมนำคำแนะนำที่ได้รับไปพัฒนาต่อยอดจนเกิดนวัตกรรม หลักสูตร และการปฏิบัติที่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน โดยเฉพาะการส่งเสริมเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้สอนผู้พิการให้สามารถนำไปต่อยอดสร้างอาชีพและเรียนต่อในอนาคตได้ ขณะเดียวกันได้เปิดรับและสร้างเครือข่ายผู้สนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจากประเทศฟินแลนด์และเกาหลี ในการถ่ายทอดความรู้ให้ผู้พิการสามารถเขียนโปรแกรมผลิตเครื่องจักรกลเพื่อทำหน้าที่ต่าง ๆแทนผู้พิการ สามารถให้นักเรียนนำความรู้ไปเผยแพร่แก่สถานศึกษาอื่น ๆ ได้ ผ่านหลักสูตรวิชาวิทยาศาสตร์คำนวณที่โรงเรียนได้ทดลองพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น เช่น การได้รับทุนการเรียนด้านนวัตกรรมจำนวน 10 ทุนของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทุนจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา การแข่งขันเขียนโปรแกรมหุ่นยนต์ (coding) ชนะเลิศระดับประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้พิการที่ผ่านการศึกษาจากโรงเรียนยังสามารถออกไปประกอบอาชีพหลากหลาย เช่น นักกีฬา จิตรกร นักเขียนโปรแกรม จึงเป็นที่มาในการยกย่องให้โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ เป็นตัวอย่างแก่สถานศึกษาต่าง ๆ ในการพัฒนาผู้เรียนตามการประเมินและแนะนำของสมศ.
สำหรับโรงเรียนเฉพาะด้านความพิการในประเทศไทยมีจำนวน 68 แห่ง มีโรงเรียนที่เข้ารับการประเมินระดับชั้นอนุบาล มีผลเป็นไปตามเกณฑ์ร้อยละ 96.24 แบ่งเป็น 3 มาตรฐาน ประกอบด้วย ด้านที่ 1.คุณภาพของเด็ก ร้อยละ 94 ด้านที่ 2.การบริหารจัดการ ร้อยละ 97 ด้านที่ 3.การจัดประสบการณ์เน้นเด็กเป็นสำคัญ ร้อยละ 95 ส่วนระดับประถมและมัธยมศึกษามีผลตามเกณฑ์ประเมินร้อยละ 97 ด้านที่ 1.ร้อยละ 98.48 ด้านที่ 2.ร้อยละ 98.48 ด้านที่ 3.ร้อยละ 94
นางเสมอจิต ชูหอยทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ กล่าวว่า โรงเรียนศรีสังวาลย์เชียงใหม่ได้รับการประเมินยอดเยี่ยม 3 ปีติดต่อกัน จากการนำข้อแนะนำจาก สมศ.มาพัฒนาหลักสูตร แผนปฏิบัติ สู่การลงมือทำ จึงเกิดนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนที่เข้มแข็งขึ้น โดยเฉพาะด้าน coding หรือวิทยาศาสตร์คำนวณ สามารถนำไปปรับใช้กับทักษะอาชีพหลากหลาย เช่น การสร้างเครื่องมือทุ่นแรงด้านการเกษตร การฝึกสอนเด็กผ่านของเล่น เพื่อปูพื้นไปสู่การเรียนรู้นวัตกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน และการประกอบอาชีพที่ผู้พิการสามารถทำได้ในอนาคต โดยโรงเรียนแบ่งสภาพความพิการเพื่อจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมตามลำดับ ได้แก่ 1.กลุ่มผู้พิการทางร่างกาย แต่สามารถเรียนได้ในระดับสติปัญญาปกติ 2.พิการซ้ำซ้อน ต้องปรับหลักสูตรให้เหมาะสมรายบุคคลตามความสามารถเด่น3.พิการซ้ำซ้อนระดับรุนแรง 4.ออทิสติก โดยทั้งหมดเน้นพื้นฐานเดียวกันคือ การอยู่ร่วมสังคม การดูแลตัวเอง การปรับควบคุมอารมณ์ให้เหมาะสม ส่วนการเรียนการสอนทักษะอาชีพต่าง ๆ จะยึดศักยภาพด้านร่างกายและสติปัญญาเป็นหลัก เช่น เด็กที่ไม่สามารถเดินได้หรือทำกิจกรรมอื่นได้แต่สมองยังดีอยู่ สามารถเขียนโค้ดดิ้ง (coding) เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพด้านต่าง ๆ ได้