สามประสานเร่งขยายผล4จว.พื้นที่ทรงงานฯ ส่งเสริมกลุ่มชาติพันธุ์สื่อสารไทยคล่องเพื่อคุณภาพที่ดี
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสแสดงความห่วงใยประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ ตามแนวตะเข็บชายแดน และถิ่นทุรกันดาร ที่ไม่สามารถใช้ภาษาไทยในการสื่อสารได้ ทำให้เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต จึงมีพระราชประสงค์อยากให้กลุ่มชาติพันธุ์ฟัง พูด ภาษาไทยได้ก่อน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่ยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ทำให้เกิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการฟัง-พูด ภาษาไทย เพื่อการสื่อสาร สำหรับผู้ใหญ่ในพื้นที่สูง ในพื้นที่โครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งมีการนำร่องโครงการแล้วที่ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ และ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักมากที่สุดของจังหวัดในเขตพื้นที่ทรงงาน
ปลัด ศธ. กล่าวต่อไปว่า จากการนำร่องโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) 38 แห่ง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน(ตชด.) 4 แห่ง และศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา”แม่ฟ้าหลวง”(ศศช.) สังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) 130แห่ง ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
ดังนั้น ปี 2561นี้จะขยายผลเต็มพื้นที่ 4จังหวัดในพื้นที่ทรงงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (กพด.) ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน และตาก โดยจะสำรวจข้อมูลผู้ไม่รู้หนังสือในพื้นที่ก่อน จากนั้นจะกำหนดพื้นที่ และจัดอบรมครูผู้สอนทั้งสังกัด สพฐ. ตชด. และ กศน.ต่อไป
“โครงการนี้เป็นการรวมพลังของ สพฐ. กศน. และ ตชด.ในการสนองพระราชดำริ เพื่อพัฒนาทักษะการฟังและพูดภาษาไทย เพื่อการสื่อสารของประชาชนบนพื้นที่สูง สามารถติดต่อสื่อสารพูดคุย รับคำแนะนำ เรื่องสุขภาพอนามัย การเจ็บไข้ได้ป่วยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”นายการุณ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ