วิทยาลัยนาฏศิลป์ เป็นกลุ่มสถาบันการศึกษา ในสังกัดสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ มุ่งผลิตครูและบุคลากรสายอาชีพ ด้านนาฏศิลป์ ดนตรี มีการจัดการเรียนการสอนทั้งวิชาสามัญและศิลปะ ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เดิมจัดการศึกษาเป็น 3ระดับ คือ นาฏศิลป์ชั้นต้น รับนักเรียนที่จบชั้น 6เข้าศึกษาตามหลักสูตร3ปีได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นต้น, นาฏศิลป์ชั้นกลาง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นต้นปีที่ 3 และนักเรียนที่จบ ม.3 เข้าศึกษาตามหลักสูตร 3ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นกลาง และนาฏศิลป์ชั้นสูง รับนักเรียนต่อเนื่องจากระดับนาฏศิลป์ชั้นกลางเข้าศึกษาต่อ 2ปี ได้รับประกาศนียบัตรนาฏศิลป์ชั้นสูง หรือเทียบเท่าอนุปริญญา และต่อมาในปีการศึกษา 2541 เมื่อกรมศิลปากร จัดตั้งสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โดยจัดการศึกษาในระดับปริญญาด้านช่างศิลป์ นาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ ทั้งไทยและสากล เพื่อรับผู้สำเร็จการศึกษา ระดับนาฏศิลป์ชั้นสูง เข้าศึกษาต่ออีก 2 ปี ในคณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา
นางนิภา โสภาสัมฤทธิ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กล่าวถึงวิทยาลัยนาฏศิลป์ มี 12 แห่งทั่วประเทศ ส่วนกลางคือวิทยาลัยนาฏศิลปกรุงเทพฯ ภาคกลาง จังหวัดอ่างทอง ลพบุรี และสุพรรณบุรี ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และสุโขทัย ภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช และพัทลุง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และนครราชสีมา ส่วนภาคตะวันออก จังหวัดจันทบุรี
“วิทยาลัยนาฏศิลป์ทุกแห่ง นอกจากจะมีการเรียนการสอนด้านวิชาการแล้ว ยังมุ่งเน้นอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ที่เป็นมรดกในพื้นถิ่นของตน และทำการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งระดับภูมิภาค และเผยแผ่ศิลปะการแสดงที่เรียกว่าโขน ละคร ฟ้อน รำ แต่ก็มีส่วนที่ต่างกันบ้างขึ้นอยู่กับอัตลักษณ์ของพื้นถิ่นนั้น ๆ เช่น ด้านภาษา เครื่องแต่งกาย ลูกเล่นและลีลาการรำ โดยวิทยาลัยนาฏศิลป์ทุกแห่ง มีโอกาสไปเผยแพร่ศิลปะการแสดงที่ต่างประเทศ ให้นานาชาติได้ชื่นชมศิลปะการแสดงเป็นประจำ สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก”
นางนิภา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเรียนการสอนในปัจจุบันผู้เรียนนาฏศิลป์ มีโอกาสได้ศึกษาต่อเนื่องในระดับปริญญา ในคณะศิลปนาฏดุริยางค์ และคณะศิลปศึกษา ที่สถาบันพัฒนศิลป์ และในอนาคตอันใกล้นี้จะมีขยายการศึกษาต่อเนื่องจนถึงระดับปริญญาเอก ฉะนั้นบัณฑิตนาฏศิลป์ของเรา จะมีทั้งสายครูผู้สอนและสายศิลปิน เป็นผลผลิตทางการศึกษาที่ถูกสร้างขึ้นมา เพื่อวิทยาลัยนาฏศิลป์ และวิทยาลัยช่างศิลป์ ดังนั้น ผู้ปกครอง นักเรียน นักศึกษา ที่สนใจร่วมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและของชาติ เข้ามาเรียนที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ จึงมั่นใจว่ามาเรียนแล้วจะไม่อ้างว้าง โดดเดี่ยว และคำว่าศิลปินไส้แห้งจะไม่มีแน่นอน
ด้าน ดร.จำเริญ แก้วเพ็งกรอ ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ กล่าวว่า วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธุ์ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2524 ตลอด 37 ปีที่ผ่านมา ได้มีการพัฒนาสถานศึกษา ทั้งอาคารเรียน หอประชุม ภูมิทัศน์ ควบคู่กับการยกระดับสถานศึกษา และคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
“วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ นอกจากจะมีหน้าที่หลักในการจัดการศึกษา และมีพันธกิจหลักในเรื่องของการอนุรักษ์ สืบสาน เผยแพร่มรดกทางภูมิปัญญาด้านดนตรี และนาฏศิลป์ ทั้งในส่วนที่เป็นมรดกสำคัญของชาติ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีไทย ทั้งวงปี่พาทย์ เครื่องสาย และคีตศิลป์ นาฏศิลป์ไทย และโขน ที่ได้อนุรักษ์ไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีไทยแล้วนั้น การศึกษาวิจัย และสร้างสรรค์ผลงานการแสดง โดยการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน ซึ่งมีลักษณะเด่นที่จังหวะ ลีลา ครื้นเครง สนุกสนาน สวยงาม เข้าใจง่าย มานำเสนอในรูปแบบวงดนตรีโปงลางนั้น ทำให้เป็นผลงานที่ผู้คนชื่นชอบ ดูแล้วไม่เบื่อ โดยการเน้นความเรียบง่าย ซึ่งได้พัฒนาต่อยอดมาอย่างยาวนาน โดยการเสนอให้เห็นวิถีชีวิตของคนอีสาน ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชัดเจน”
ดร.จำเริญ กล่าวอีกว่า กาฬสินธุ์เป็นดินแดนที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรม ผู้คนมีจิตใจโอบอ้อมอารี จึงทำให้การแสดงอ่อนช้อย นุ่มนวล อ่อนหวาน สามารถนำทุนทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นมารังสรรค์ เป็นทำนองดนตรี ลีลาท่าทางการแสดงได้อย่างหลากหลายและลงตัว อย่างไรก็ตาม จากการได้เผยแพร่ผลงานทั้งในทางวิชาการ และผลงานเชิงประจักษ์ ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์รับใช้สังคมเป็นเวลา 37 ปี ผลผลิตของวิทยาลัยฯที่จบออกไป ได้ทำงานรับใช้สังคม ทั้งในรูปแบบนักวิชาการ ครู ศิลปิน ต่างได้สร้างผลงาน มีชื่อเสียงรุ่นแล้วรุ่นเล่า ทำให้เกิดภาพจำใหม่ในวงการนาฏศิลป์ สามารถตอบโจทย์ที่ว่าเรียนนาฏศิลป์จบแล้วไปทำอะไรกินได้หมดข้อสงสัย เพราะลูกศิษย์ของเรา เป็นที่ยอมรับและต้องการของสังคม
เรื่องและภาพโดย – ณัฐพงษ์ ประชากูล จ.กาฬสินธุ์
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ