เรื่องโดย ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022)
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ เมื่อ “มนุษย์” เป็นทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการต่อสู้เพื่อความยั่งยืน การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์และการปกป้องทรัพยากรของโลกจำเป็นต้องมีการขยายขีดความสามารถทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้คนมีพลัง มีสุขภาวะครบทุกมิติในการดำเนินชีวิต และพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงในยุค VUCA World ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน
ประเทศจะพัฒนาก้าวหน้าอย่างยั่งยืนได้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยการพัฒนาและความร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน การพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะในทุกมิติเป็นหมุดหมายสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายร่วมกันทำงาน กระตุ้น สานและเสริมพลังกับทุกภาคส่วนให้เกิดขึ้นในสังคมไทย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565 (Thailand Sustainable Development Forum 2022) จัดขึ้นโดยเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีเป้าหมายเพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการนำความรู้และกลไกในด้านต่าง ๆ ทั้งสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการพัฒนาประเทศ ทำให้เกิดเครือข่ายการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างบูรณาการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยให้สำเร็จภายในปี 2573
การจัดเวทีแลกเปลี่ยนครั้งนี้ ได้พูดถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศไทยให้ยั่งยืนผ่าน 5 Theme หลัก ได้แก่
Theme ที่ 1 สุขภาวะและทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมและสร้างสุขภาวะให้กับประชากรทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคในทุกมิติ
Theme ที่ 2 เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ส่งเสริมให้เกิดความคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนฐานราก เข้าถึงระบบสวัสดิการสังคมและเทคโนโลยี
Theme ที่ 3 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน การนำประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนเป็นกลาง ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
Theme ที่ 4 การพัฒนาของพื้นที่เมืองและพื้นที่กึ่งเมือง ส่งเสริมการมีสิทธิในที่ดิน เชื่อมโยงข้อมูล เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และการสนับสนุนงบประมาณ
Theme ที่ 5 ระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน ส่งเสริมระบบเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ให้มีความสมดุล ยั่งยืน และปรับตัวได้
“สุขภาวะ” สำคัญกับการพัฒนาประเทศอย่างไร เพราะ สสส. เชื่อมั่นเสมอว่า “ทุกคนบนแผ่นดินไทยมีขีดความสามารถ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เอื้อต่อสุขภาวะ” การสร้างหลักประกันทางสุขภาพ การศึกษา การประกอบอาชีพ การลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความสำคัญกับประชากรทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง รวมทั้งการมีสุขภาวะครบทุกมิติ กาย จิต ปัญญา สังคม เป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะเมื่อประชากรในประเทศมีสุขภาวะที่ดี ก็ส่งผลให้ประเทศพัฒนาและเจริญก้าวหน้าตามไปด้วย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พูดถึงการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะของ สสส. ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ว่า สสส. มุ่งเน้นทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของคนไทยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น และ 1 ในนโยบายสำคัญ คือ แนวคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และการมองหากลุ่มคนใหม่ ๆ เพื่อมาเป็นแรงขับเคลื่อนการทำงานสร้างเสริมสุขภาพในทศวรรษที่ 3 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านนโยบาย สิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การปรับเปลี่ยนระบบบริการสุขภาพ และการสร้างทักษะและพฤติกรรมส่วนบุคคลให้มีสุขภาพดีครบ 4 มิติ คือ สุขภาพกาย สุขภาพจิตใจ สุขภาพทางสังคม และสุขภาพทางปัญญา
“ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ VUCA World มีทั้งความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือ การพัฒนาประเทศให้มีสุขภาวะในทุกด้านจึงมีความท้าทายและต้องมองหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อให้ทันและรับมือกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ นวัตกรรม และความรู้ จึงเป็นเครื่องมือและทักษะสำคัญที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ทั้งที่ยังแก้ไขไม่ได้ รวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ยกระดับสังคมที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน ให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนคนไทยต่อไป” ดร.สุปรีดา กล่าว
ความสำคัญและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ประการ สู่เป้าหมายการพัฒนาและขับเคลื่อนให้เกิดสุขภาวะในสังคมไทย
1. การให้ความสําคัญกับการสร้างความคุ้มครองทางสังคมให้แก่เด็กกลุ่มเปราะบาง
2. การมุ่งเน้นการทำงานในระดับพื้นที่ โดยให้ชุมชนและท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนงาน
3. การสร้างสังคมที่นําข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างบูรณาการและเป็นระบบ
การสร้างสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 มิติ ได้แก่ กาย จิต ปัญญา สังคม เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน ถึงแม้วันนี้การพัฒนาในด้านต่าง ๆ ของไทย จะยังคงไม่ได้สำเร็จทั้งหมดทุกข้อตามเป้าหมาย แต่ สสส. และภาคีเครือข่ายยังคงมุ่งมั่น สานต่อภารกิจการสร้างเสริมสุขภาพ สานพลังกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรทุกกลุ่มอย่างเสมอภาคในทุกมิติต่อไป เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี