ต้อนรับวันครูแห่งชาติ นักวิชาการเสนอรัฐต้องทำให้อาชีพครูกลายเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ย้ำครูยุคใหม่ต้องไปไกลกว่า”เรือจ้าง”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) กล่าวว่า ในปี 2560 ซึ่งรัฐบาลประกาศให้เป็นปีแห่งการปฏิรูปประเทศ ครูจึงเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนากำลังคนให้เดินหน้าไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในวันครูแห่งชาติ สสค.จึงนำเสนอ 3 เมกะเทรนด์โลกด้านการศึกษา ที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อทิศทางการพัฒนาครูไทย ในปี 2017 ดังนี้
1) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษา หรือ “EdTech” มาปลดพันธนาการคืนครูสู่ห้องเรียน ให้ครูมี “อิสระ” ทุ่มเทพัฒนาการสอนได้อย่างเต็มที่ โดย EdTech จะทำหน้าแบ่งเบาภาระการบริหารจัดการภารกิจนอกเหนือการสอน อาทิ การลดภาระเอกสารงานธุรการ การประเมินผลการเรียน การจัดการข้อมูลนักเรียน
ซึ่งผลวิจัยล่าสุดจากผลการสอบ PISA 2015 หรือรายงานของคณะกรรมการแห่งชาติเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของสหรัฐอเมริกา (NCTAF) ระบุตรงกันว่า การมอบหมายภารกิจนอกเหนือการสอนให้แก่ครู ส่งผลเสียต่อคุณภาพการเรียนการสอนของครูและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเสนอให้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคืนเวลา และอิสระให้แก่ครู ในการมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในชั้นเรียนมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาแบ่งเบาภาระครู
2) การสร้างและปลูกฝังแนวคิด Growth Mindset ให้กับครู จากทฤษฎีด้านจิตวิทยาที่มีการวิจัยกว่า 40 ปีที่เชื่อว่า อัจฉริยะหรือพรสวรรค์ไม่สำคัญเท่ากับความเชื่อมั่นที่ว่า สามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิมได้ ฉะนั้นในการพัฒนาครูรุ่นใหม่ให้มี Growth Mindset ที่ดี ก็จะส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ และกรอบแนวคิดในการพัฒนาของศิษย์ ทั้งยังนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ทีดีให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู
3) ทำให้อาชีพครูกลายเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ เมื่อสังเคราะห์ข้อมูลจากประเทศ ที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา อาทิ ฟินแลนด์ สิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ พบว่านักเรียน นักศึกษา ที่มีความรู้ความสามารถสูงที่สุดในชั้นเรียน ล้วนเลือกประกอบอาชีพครูแทบทั้งสิ้น
ปัจจุบันรัฐบาลไทย ได้นำโครงการครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือโครงการคุรุทายาท ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการที่ต้องการส่งเสริมให้เยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ความสามารถในพื้นที่ได้รับโอกาสในการเป็นครูดีในท้องถิ่นของตนได้ เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในพื้นที่ที่ขาดครูอย่างยั่งยืน และสร้างต้นแบบครูที่ดีคืนสู่สังคม
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษาในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีโครงการดีที่สนับสนุนให้ครูได้พัฒนาศักยภาพ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับลูกศิษย์ อีกทั้งผู้นำระดับประเทศต่างให้ความสำคัญกับงานวันครู สะท้อนให้เห็นต้นทุนที่ดีในการปฏิรูปการศึกษา แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น อยากเสนอให้รัฐบาล ให้น้ำหนักและให้ความสำคัญกับการปฏิรูปวิชาชีพครู ให้เข้มข้นกว่าเดิม ทำอย่างไรให้ครูกลายเป็นเสาหลักในการพัฒนาประเทศ ประเทศที่เจริญแล้วต่างใช้ครูเป็นปัจจัยเอาชนะและยกระดับความไม่รู้ และคุณภาพของประเทศทั้งสิ้น
“เขามองครูเป็นบุคคลสำคัญ แต่ไทยยังขาดความจริงจังและชัดเจนในเชิงนโยบาย หากใช้โอกาสวันครูปีนี้เป็นการเริ่มต้นการขับเคลื่อนครูให้มีความเป็นเอกภาพ จะเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ ครูควรก้าวพ้นเรื่องระบบราชการ งานเอกสาร และงานอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของครู รัฐบาลต้องกล้าตัดสินใจให้ครูมีโอกาสได้ทำงานนอกห้องเรียนมากขึ้น ให้ครูกล้าคิดนอกกรอบมากขึ้น ให้เด็กได้เรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพในศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญคืออย่ามองการปฏิรูปการศึกษาหรือการปฏิรูปครูเฉพาะส่วนกลาง แต่ให้มองยึดโยงกับความต้องการของท้องถิ่น ทำให้อาชีพครูเป็นเสาหลักและเกิดเอกภาพทางนโยบาย ก็จะทำให้งานวันครูไม่เป็นเพียงงานเชิงพิธีกรรม แต่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้อย่างยั่งยืน”
นายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ ครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2558 คนแรกของประเทศไทย กล่าวว่า อาชีพครูมีความสำคัญ แต่เดิมครูมักถูกเปรียบกับเรือจ้าง แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะคำว่าเรือจ้างกินใจความเพียงการส่งต่อเด็กจากระดับหนึ่งไปสู่ระดับที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่การสร้างคนให้มีคุณภาพ มิใช่งานที่ส่งต่อ นั่นเป็นการมองเพียงผิวเผิน ฉะนั้นในฐานะครูยุคใหม่ ต้องมองว่าทำอย่างไรจะพัฒนาเด็กให้เป็นคนดี คนเก่ง เพื่อที่จะเติบโตขึ้นเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ อยากให้สังคมมองว่า อาชีพครูเป็นอาชีพที่สร้างคน มีเกียรติ และมีความเจริญก้าวหน้า แม้มีอุปสรรคก็อยากให้มองนักเรียนเป็นสำคัญ อย่าไปสนใจสิ่งรอบข้าง ไม่เช่นนั้นจะบั่นทอนจิตใจ แต่หากโฟกัสที่เด็กเห็นความเจริญก้าวหน้าก็จะภาคภูมิใจ ทำให้มีกำลังใจในการทำงานต่อไปได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ