สมาคมสภามหาวิทยาลัย (ประเทศไทย) หรือ สสมท.จัดเสวนาประจำปี ครั้งที่ 3 เรื่อง ทางรอดอุดมศึกษาไทย เพื่อหาทางออกและพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาและระบบอุดมศึกษาไทยให้มีความเข้มแข็ง สอดรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและโลกในปัจจุบัน
การจัดเสวนาครั้งนี้มี ดร.ชุมพล พรประภา นายก สสมท.ร่วมเสวนา และได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม และผู้บริหารจากสถาบันต่าง ๆ เข้าร่วมเสวนาอย่างคับคั่ง อาทิ
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บรรยายเรื่อง “อุดมศึกษาไทย ณ จุดเปลี่ยน” กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี “เทคโนโลยีเปลี่ยน คู่แข่งเปลี่ยน ลูกค้าก็เปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน” และการที่ลูกค้าเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ท้าทายมากกว่า ปัญหาหลักของหลายมหาวิทยาลัยคือการปรับตัวไม่ทัน และยึดติดกับวัฒนธรรมแบบราชการ และเชื่อว่าเรื่องของการบริหารจัดการที่ดี การคัดกรองกำลังทั้งบุคลากร นักศึกษา จะต้องเข้มข้น เป็นระบบและได้รับการส่งเสริมต่อเนื่อง รวมถึงงบประมาณ จะทำให้มหาวิทยาลัยขยับเข้าสู่การปรับตัวต่อไปได้ และต้องเรียนรู้ ร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้นต่อไป
นายทนง โชติสรยุทธ์ ประธานกรรมการบริหารโรงเรียน และ ผอ.โรงเรียนเพลินพัฒนา กล่าวว่า อุดมศึกษาไทยถูกคาดหวังหลายเรื่อง เช่น สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ความต้องการของตลาดแรงงงานและภาคอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไทยแลนด์4.0 และความเชื่อมั่นการจัดอันดับทั้งในและต่างประเทศ และภารกิจของอุดมศึกษาจะต้องบูรณาการให้เชื่อมโยงกัน 3 เรื่อง คือ Education-การศึกษา Research-วิจัย และServices-การให้บริการ
รศ.ดร.พร้อมพิไล บัวสุวรรณ หัวหน้าภาควิชาภาควิชาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นย้ำถึงการทำความเข้าใจของระบบนิเวศทางการศึกษา บทบาทของครูและอาจารย์ต้องเปลี่ยนเป็นผู้ให้คำปรึกษาและต้องรู้จักเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มากขึ้น ส่วนแนวทางของอุดมศึกษาต้องมุ่งไปที่อนาคต รวมถึงต้องทำให้ทุกการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงได้ง่าย
นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ) บรรยายพิเศษ “ทางรอดของอุดมศึกษาไทย” ว่า การผลิตบัณฑิตในประเทศไทยยังขาดการวางแผนมคภาค และไม่ได้ให้ความสำคัญกับข้อมูลสาธารณะในการนำมาประกอบใช้ และได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษาว่า
การศึกษาเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความคาดหวังต่อกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรมที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้พ้นจากสภาพการณ์ในปัจจุบันนี้ “ทุกมหาวิทยาลัยต้องบริหารจัดการ ปฏิรูปการศึกษาของตัวเอง เพื่อเป็นต้นแบบที่ดี แล้วนำไปเสนอ น่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า
ช่วงท้ายเป็นการสนทนาพิเศษหัวข้อ “กระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม : ทางรอดของอุดมศึกษาไทย” นำโดย รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ร่วมด้วย ศ.(พิเศษ) ดร. ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม และอุปนายก สสมท. และนายชัยณรงค์ อินทรมีทรัย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีนายสุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินการสนทนา สรุปว่า
หน่วยงานเกี่ยวกับวิจัยของประเทศมีความหลากหลายและซ้ำซ้อน จึงต้องควบรวมใหม่ตามนโยบายการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งกระทรวงใหม่นี้จะเน้นการสร้างองค์ความรู้และสร้างคน เตรียมคนไทยสู่ศตวรรษ 21 และยกขีดความสามารถของนวัตกรรม เพราะนวัตกรรมเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจสังคมฐานนวัตกรรม
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ