เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: สกอตต์ ฟอสเตอร์
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ WWW.asiatimes.com)
US falling further behind China in STEM PhDs
By SCOTT FOSTER
09/08/2021
ถึงแม้มหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลกจำนวนมากยังคงเป็นสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ แต่ผลการศึกษาวิจัยชิ้นใหม่แสดงให้เห็นว่า ภายในปี 2025 นี้ พวกมหาวิทยาลัยจีนจะสามารถผลิตผู้จบการศึกษาปริญญาเอกในสาขาวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-วิศวกรรม-คณิตศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า “สะเต็มศึกษา” ได้เป็นจำนวนเกือบๆ 2 เท่าตัวของที่สหรัฐฯทำได้
โตเกียว – ในบทความชิ้นก่อน เรื่อง China-US contest will come down to education (การแข่งขันระหว่าง‘จีน-สหรัฐฯ’ ใครแพ้ใครชนะจะตัดสินกันที่‘การศึกษา’) ผมได้เขียนถึงวิกฤตการณ์ในการศึกษาระดับประถมและระดับมัธยมของอเมริกัน อย่างที่ผมได้สัญญาเอาไว้ในข้อเขียนดังกล่าว สำหรับในบทความชิ้นนี้ผมจะพูดถึงความเสื่อมโทรมย่ำแย่ลงโดยเปรียบเทียบของพวกมหาวิทยาลัยอมริกันในสาขาวิชาทางด้าน วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม, และคณิตศาสตร์ (science, technology, engineering and mathematics เรียกย่อๆ ว่า STEM ภาษาไทยมีผู้ใช้ว่า สะเต็มศึกษา -ผู้แปล)
(ดูบทความเรื่อง China-US contest will come down to education ภาษาอังกฤษได้ที่ https://asiatimes.com/2021/07/china-us-contest-will-come-down-to-education/ สำหรับที่เก็บความเป็นภาษาไทยแล้ว ดูได้ที่ https://mgronline.com/around/detail/9640000092985)
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ยังไม่ใช่สิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างถนัดชัดเจนแล้ว มหาวิทยาลัยระดับดีที่สุดของโลกจำนวนมากยังคงเป็นสถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ พวกเขายังคงรักษาชื่อเสียงเกียรติคุณอันดีเลิศเอาไว้ได้
ตัวอย่างเช่น ในการจัดอันดับ “มหาวิทยาลัยทั่วโลกยอดเยี่ยม” (Best Global Universities) ประจำปี โดยนิตยสาร ยูเอสนิวส์แอนด์เวิลด์รีพอร์ต (US News & World Report) ซึ่งล่าสุดจัดกันเป็นปีที่ 7 และนำออกเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม 2020 นั้น พบว่าในจำนวนสถาบันการศึกษาระดับท็อป 25 แห่ง มี 19 แห่งทีเดียวเป็นสถาบันอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของ QS (QS World University Ranking) ซึ่งเผยแพร่โดย ควัคควาเรลลี ไซมอนด์ส (Quacquarelli Symonds) บริษัทในสหราชอาณาจักร และอาจจะมีความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนลมากกว่า เวอร์ชั่นของล่าสุดซึ่งออกมาเมื่อเดือนกรฎาคมปีนี้ พบว่า มหาวิทยาลัยท็อป 25 ของทั่วโลก มี 12 แห่งอยู่ในสหรัฐฯ, 5 แห่งอยู่ในสหราชอาณาจักร, 3 แห่งอยู่ในจีน, อยู่ในสิงคโปร์กับในสวิตเซอร์แลนด์ประเทศละ 2 แห่ง, และ 1 แห่งอยู่ในญี่ปุ่น
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.topuniversities.com/university-rankings/world-university-rankings/2022)
ครั้นแล้ว ตอนต้นเดือนสิงหาคม ศูนย์กลางเพื่อความมั่นคงและเทคโนโลยีเกิดใหม่ (Center for Security and Emerging Technology หรือ CSET) แห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ (Georgetown University) ในกรุงวอชิงตัน ได้ออกรายงานฉบับหนึ่ง ใช้ชื่อเรื่องว่า “China is Fast Outpacing US STEM PhD Growth,” (จีนกำลังมีฝีก้าวแซงหน้าสหรัฐฯอย่างรวดเร็วเรื่องอัตราเติบโตของผู้จบ PhD สาขา STEM) โดยมีข้อสรุปว่า “จากการคำนวณโดยอิงอยู่กับแบบแผนการลงทะเบียนเรียนในปัจจุบัน เราคาดการณ์ว่าภายในปี 2025 มหาวิทยาลัยต่างๆ ของจีนจะผลิตผู้สำเร็จการศึกษาปริญญาเอก PhD ในสาขา STEM เป็นจำนวนมากกว่า 77,000 คนต่อปี เปรียบเทียบกับในสหรัฐฯซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 40,000 คน”
(ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://cset.georgetown.edu/publication/china-is-fast-outpacing-u-s-stem-phd-growth/)
แน่นอนอยู่แล้วว่า พวกมหาวิทยาลัยจีนนั้น โดยสาระสำคัญแล้วคือมุ่งให้การศึกษาแก่พวกนักศึกษาชาวจีน ขณะที่พวกมหาวิทยาลัยอเมริกันนั้นทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่นักศึกษาจากทั่วโลกมากกว่า ด้วยเหตุนี้ การศึกษาของจอร์จทาวน์ชิ้นนี้จึงพบว่า “ถ้าหักพวกนักศึกษานานาชาติออกไปจากตัวเลขของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯแล้ว ผู้จบการศึกษา PhD สาขา STEM ที่เป็นชาวจีน จะมีจำนวนมากกว่าผู้สำเร็จการศึกษาที่เป็นชาวอเมริกันในอัตราส่วนมากกว่า 3 ต่อ 1 ทีเดียว”
จีนแซงหน้าสหรัฐฯในเรื่องจำนวนของผู้จบการศึกษา PhD สาขา STEM มาตั้งแต่ปี 2007 แล้ว และเมื่อถึงปี 2019 ก็นำหน้าทิ้งห่างออกไปเป็นราวๆ 47% ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วและเวลานี้แนวโน้มก็ยังคงเป็นเช่นนั้นอยู่ ถึงแม้ย้อนกลับไปเพียงเมื่อปี 2000 นี้เอง สหรัฐฯยังผลิตผู้จบ PhD STEM ได้ในระดับเป็นกว่า 2 เท่าตัวของจีนอยู่เลย
พร้อมกันนี้ คุณภาพของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของจีนในสาขา STEM ยังกำลังปรับปรุงดีขึ้นเรื่อยๆ
“อัตราการเติบโตขยายตัวของชาวจีนที่ลงทะเบียนเรียนระดับ PhD ซึ่งเป็นไปอย่างรวดเร็วในระยะหลังๆ มานี้ ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นการลงทะเบียนเรียนในพวกมหาวิทยาลัยระดับคุณภาพสูงขึ้นกว่าเมื่อก่อน” นี่เป็นอีกจุดหนึ่งที่การศึกษาของ CSET ค้นพบ และระบุว่า “เนื่องจากชาวจีนผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกมากกว่า 3 ใน 4 เป็นผู้ที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญในสาขาทางด้าน STEM นี่จึงเป็นหลักฐานบ่งบอกว่า สายท่อบรรจุผู้มีความรู้ความสามารถด้าน STEM ของจีนกำลังแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ”
ไม่น่าประหลาดใจเลย เมื่อการศึกษานี้ยังบอกต่อไปว่า “เมื่อพิจารณาจากขนาดขอบเขตของการลงทุนที่จีนทุ่มเทลงไปในการศึกษาขั้นอุดมศึกษา และการแข่งขันทางเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่มีเดิมพันสูงลิ่ว ช่วงห่างในการผลิต PhD สาขา STEM สามารถที่จะกลายเป็นตัวบ่อนทำลายเศรษฐกิจและความมั่นคงแห่งชาติในระยะยาวของสหรัฐฯได้”