พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พลเอก สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์) เป็นประธานในพิธีมอบเงินสนับสนุนจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าภาครัฐและเอกชน ได้กล่าวถึง โครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขาไฟฟ้าควบคุม วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด จังหวัดระยอง ประจำปีการศึกษา 2561 ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ร่วมมือกับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าภาครัฐและเอกชน ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของการพัฒนาประเทศในการพัฒนากำลังคน ตามโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม เพื่อผลิตช่างเทคนิคที่มีทักษะและคุณลักษณะเฉพาะทางสอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และเป็นการเปิดโอกาสและเปิดโลกแห่งการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้มีความมั่นคงเป็นคนคุณภาพที่ตลาดแรงงานต้องการ มีรายได้ระหว่างเรียน เมื่อสำเร็จการศึกษามีงานทำทันที และได้รับค่าตอบแทนในอัตราที่สูงมาก
ด้านนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี และเป็นผู้ริเริ่มโครงการ V-ChEPC ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน กล่าวว่าจากต้นแบบการจัดการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) ได้นำมาพัฒนาการเรียนการสอนในแผนกวิชาปิโตรเคมี วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด ร่วมกับสถานประกอบการกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อเป็นต้นแบบความร่วมมือ และการเรียนรู้ที่พัฒนาให้ผู้เรียน คิดเป็น ทำเป็น มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิต จากความสำเร็จในการพัฒนาผู้เรียนของโครงการ V-ChEPC จึงขยายผลการจัดการเรียนรู้สู่สาขางานไฟฟ้าควบคุม เพื่อสนองความต้องการกำลังคนของกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไฟฟ้า และเสริมสร้างขีดความสามารถ ในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาทักษะความรู้ สู่การปฏิบัติ โดยความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ ดร.ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ประธานกรรมการบริหารโครงการ V-ChEPC กล่าวเพิ่มเติมว่า การสนับสนุนการผลิตช่างเทคนิคสาขางานไฟฟ้าควบคุม ถือเป็นการสร้างกำลังคนที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและกลุ่มพลังงานไฟฟ้า ของประเทศ จากความสำเร็จในการพัฒนากำลังคนของโครงการ V-ChEPC ทำให้โครงการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนขยายผลการจัดการเรียนการสอน เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด นำไปสู่การเป็นสถานศึกษาเฉพาะทางและเป็นต้นแบบความร่วมมือที่เป็นแบบอย่างของภาคอุตสาหกรรม
ส่วนด้านดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาช่างเทคนิควิศวกรรมเคมี (V-ChEPC) กล่าวเสริมว่า ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของช่างเทคนิคให้มีคุณภาพมาตรฐาน โดยมุ่งเน้นความร่วมมือของสถานประกอบการในฐานะผู้ใช้กำลังคนในการกำหนดทิศทาง ด้านปริมาณ และคุณภาพสมรรถนะอาชีพ รวมทั้งการมีบทบาทสำคัญในกระบวนการพัฒนากำลังคนอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และกลุ่มพลังงานไฟฟ้า
ดร.พีระพล พูลทวี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวปิดท้ายว่า การลงนามความร่วมมือครั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าภาครัฐแบะเอกชนได้การสนับสนุนโครงการพัฒนาช่างเทคนิคสาขาไฟฟ้าควบคุม วิทยาลัยเทคนิคมาบตาพุด โดยมอบทุนสนับสนุนการศึกษาดังนี้ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 500,000 บาท บริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด จำนวน 500,000 บาท สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน จำนวน 200,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,200,000 บาท และมีหน่วยงานที่สนับสนุนทุนเงินเพื่อปรับปรุงหอพักนักศึกษา ดังนี้ บริษัท ไทยออยล์ จกัด (มหาขน) จำนวน 2,000,000 บาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จำนวน 500,000 บาท บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด จำนวน 100,000 บาท และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชนป จำนวน 2,000,00 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 5,800,000 บาท
ทั้งนี้ สอศ. ต้องขอขอบคุณหน่วยงานต่างๆ ที่ร่วมผลักดันให้โครงการนี้ประสบควมสำเร็จ ได้แก่ มูลนิธิศึกษาพัฒน์ สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าภาครัฐและเอกชน กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ