จับมือสถาบันการบินพลเรือน พัฒนาหลักสูตรช่างอากาศยาน เป็นหลักสูตรกลางอิงตามมาตรฐานสากล และดึงสายการบินต่าง ๆ ช่วยเป็นครูพี่เลี้ยงสอนระดับพื้นฐาน พร้อมตั้งงบฯจัดซื้อคุรุภัณฑ์ วิทยาลัยละไม่เกิน 5 ล้านบาท
นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(กอศ.)เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ได้อนุมัติหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) ประเภทอุตสาหกรรม สาขาวิชาช่างอากาศยาน ปรับปรุง พ.ศ.2559 ซึ่งได้มีการนำร่องเปิดสอนใน 5 วิทยาลัย คือ วิทยาลัยเทคนิค(วท.)ถลาง จังหวัดภูเก็ต วท.สัตหีบ จังหวัดชลบุรี วท.สมุทรปราการ วท.ดอนเมือง และ วท.อุบลราชธานี นั้น ขณะนี้ สอศ.ได้ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน พัฒนาหลักสูตรช่างอากาศยาน เป็นหลักสูตรกลางสำหรับให้วิทยาลัยนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน
โดยการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าวได้อิงมาตรฐานองค์กรการบินระหว่างประเทศ(ICAO) มาตรฐานสำนักบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา(FAA) และมาตรฐานความปลอดภัยการบินยุโรป(EASA) เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของ สอศ.เป็นมาตรฐานเดียวกัน นักศึกษาจบออกไปอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมสู่การปฏิบัติงานได้จริง
รองเลขาธิการ กอศ.กล่าวต่อไปว่า จากการประชุมร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน กองทัพอากาศ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนบริษัทการบินต่าง ๆ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทุกฝ่ายเห็นด้วยกับการพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว โดยสถาบันการบินพลเรือน ก็พร้อมที่จะมาลงนามความร่วมมือในการผลิตบุคลากรสาขาช่างอากาศยานร่วมกับ สอศ. ขณะเดียวกันสายการบินต่าง ๆ ก็ยินดีเปิดรับนักศึกษาเข้าไปฝึกภาคปฏิบัติด้วย
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ สอศ.จะต้องเตรียมการรองรับการผลิตช่างอากาศยาน คือ การพัฒาครู ซึ่งที่ผ่านมา สอศ.ยังไม่มีครูที่จบด้านอากาศยานโดยตรง มีแต่จบวิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ เช่น เครื่องยนต์ เครื่องกล อิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้า เป็นต้น ดังนั้น สอศ.จะพัฒนาครูเหล่านี้โดยร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน และสายการบินต่าง ๆ เพื่อให้มาเป็นครูพี่เลี้ยงสอนระดับพื้นฐานแก่เด็ก ส่วนวิชาที่ลงลึกจะจ้างผู้เชี่ยวชาญที่มีใบอนุญาต หรือ License เข้ามาสอน
“หลักสูตรนี้ไม่กำหนดว่าจะต้องจบภายใน 2 ปี เพราะเรากำหนดหลักสูตรให้เรียน 120 หน่วยกิตเท่ากับสถาบันการบินพลเรือน แต่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการเรียนไม่เกิน 90 หน่วยกิต ดังนั้นเด็กจะต้องเรียนให้ครบ 120 หน่วยกิต และต้องผ่านการประเมินไม่ต่ำกว่า 70% จึงจะได้ทั้งวุฒิ ปวส. และใบประกาศนียบัตร ส่วนใครจะขอใบรับรอง หรือ certificate เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลก็ต้องไปสอบ”
นายวณิชย์ กล่าวและว่า สำหรับครุภัณฑ์ในการฝึกช่างซ่อมอากาศยานนั้น ขณะนี้ สอศ.ได้ขอตั้งงบประมาณการจัดซื้อครุภัณฑ์ปี 2561 แล้ว โดยตั้งไว้ไม่เกินวิทยาลัยละ 5 ล้านบาท
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ