สอศ.ร่วมกับโคเซ็นจัดหลักสูตร5ปีผลิตอาชีวะพันธุ์ใหม่
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2561 นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) พร้อมด้วย นายทานิคูชิ อิสะ ประธานสถาบันโคเซ็น (KOSEN) ประเทศญี่ปุ่น ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) มาตรฐานโคเซ็น
โดย นายสุเทพ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้ได้มาตรฐานสากลนำร่อง 6 สาขา ได้แก่ ช่างอากาศยาน, ระบบขนส่งทางราง,หุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม,แมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์, โลจิสติกส์ และเกษตรก้าวหน้า ภายใต้โครงการอาชีวะพันธุ์ใหม่และบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เริ่มดำเนินการในปีการศึกษา2561 เพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนที่มีสมรรถนะสูงรองรับกับภาคอุตสาหกรรม New Growth Engine อุตสาหกรรมกลุ่ม S-CURVE ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาลและนโยบายนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ที่ให้ปฏิรูปการศึกษาพัฒนาการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ ในจำนวน 6 สาขามี 2 สาขาที่ สอศ.และสถาบันโคเซ็นได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรตามมาตรฐานโคเซ็น เปิดจัดการเรียนการสอนในวิทยาลัย 2 แห่ง ดังนี้ 1.สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สาขางานหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม) วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) จำนวน 20 คน และ 2.สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ (สาขางานแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์) วิทยาลัยเทคนิคสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 20 คน โดยเป็นหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) (ต่อเนื่อง 5 ปี) และขณะนี้ทั้ง 2 วิทยาลัยได้รับนักเรียนรุ่นแรก ที่มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติของสถาบันโคเซ็นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นผู้ที่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป ผ่านการคัดเลือกด้วยวิธีการสอบและสัมภาษณ์ โดยกระบวนการคัดเลือกมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่นร่วมด้วย โดยเมื่อจบการศึกษาผู้เรียนจะได้รับวุฒิ ปวส.และประกาศนียบัตรจากสถาบันโคเซ็น
“ถือเป็นครั้งแรกของไทยกับการจัดการสอนในมาตรฐานโคเซ็น ในปีแรกจะรับสาขาละ 20 คน และในปีถัดไปจะขยายจำนวนรับเพิ่มเป็น 40 คน รวมถึงจะพิจารณาขยายไปในวิทยาลัยแห่งอื่นที่มีความพร้อม โดยตั้งเป้าว่าภายในระยะ 5 ปี(2561-2565) จะสามารถผลิตช่างฝีมือคุณภาพ นักนวัตกรรมสังคม ที่มีความพร้อมทั้งความรู้วิชาการและทักษะการปฏิบัติ ที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลได้มากกว่า 500 คน อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกับโคเซ็นมีหลายรูปแบบทั้งทางวิชาการในการพัฒนาหลักสูตร การแลกเปลี่ยนและพัฒนาบุคลากร นักเรียน นักศึกษา ตามมาตรฐานโคเซ็น และงานศึกษาวิจัย ส่วนการเรียนการสอนเป็นไปอย่างเข้มข้นเน้นสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการ มีการสนับสนุนครุภัณฑ์พื้นฐานให้สอดคล้องกับหลักสูตร”
นายสุเทพ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นกว่า 7,000 แห่งมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ซึ่งยังมีความต้องการแรงงานอีกจำนวนมาก การที่อาชีวะสามารถผลิตกำลังคนที่ได้มาตรฐานโคเซ็น ที่มีสมรรถนะสูงมีงานรองรับแน่นอนและยังได้รับค่าตอบแทนที่สูงหลักหมื่นบาทด้วย
ด้านนายทานิคูชิ กล่าวว่า สถาบันโคเซ็นจัดการเรียนการสอนเฉพาะทางและประสบความสำเร็จเป็นที่ยอมรับในประเทศญี่ปุ่น สำหรับผู้ที่เรียนจบหลักสูตร 5 ปีนี้แล้วจะเป็นนักปฏิบัติ มีความคิดสร้างสรรค์ ทั้งนี้ สำหรับการจัดการเรียนการสอนใน 2 สาขาของประเทศไทยนั้น ใน 3 ปีแรกจะเน้นวิชาพื้นฐาน เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ฟิสิกส์ ส่วนปีที่ 4-5 จะเน้นการฝึกปฏิบัติและการคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรม
“โคเซ็นสัญญาว่าจะสร้างนักเรียนอาชีวะไทย ที่ได้ตามมาตรฐานโคเซ็นตรงกับความต้องการของบริษัทต่างๆ ซึ่งนักเรียนจะต้องเรียนฝึกปฏิบัติอยากหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จ และมั่นใจว่าผู้เรียนของโคเซ็นในวันนี้จะกลายเป็นนักนวัตกรรมใหม่ๆให้สังคมดีขึ้น และในญี่ปุ่นผู้เรียนที่จบตามมาตรฐานโคเซ็นได้เงินเดือนมากกว่าผู้จบมหาวิทยาลัย”นายทานิคูชิ กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ