เสรี พงศ์พิศ
Fb Seri Phongphit
ในสังคมที่มีการยกย่องเชิดชูคนฉลาดเพราะมีปริญญา คนมีหน้ามีตามีเงินร่ำรวยเพราะระบบโครงสร้างที่เปิดโอกาสให้กอบโกย และผู้วิเศษที่รักษาโรคได้ ก็มีขั้วตรงกันข้าม คือคน “โง่ จน เจ็บ” วาทกรรมที่ครอบงำสังคมไทยมานาน สัญญาณของความด้อยพัฒนา
เป็นลักษณะของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียม คนมีเกียรติเพราะสังคมยกตามค่านิยม และคนไม่มีเกียรติเพราะไม่ได้รับเกียรติ การนับถือที่สมควรจะได้รับตามสิทธิที่เป็นมนุษย์ (ที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้)
คนไม่ได้เกิดมาโง่ จน เจ็บ แต่ถูกสังคมทำให้เป็นเช่นนั้น เพราะโครงสร้างระบบที่บกพร่อง เป็นสังคมที่เจ็บป่วยทางจิตวิญญาณ ทำให้คนเจ็บป่วยไปด้วยทั้งกายและใจ
ฌอง ฌัค รุสโซ นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส บอกว่า “คนเกิดมาเสรี แต่ทุกที่กลับตกอยู่ในพันธนาการ” ที่สังคมสร้างขึ้นเพื่อกำหนดชีวิตของผู้คน เขาจึงเสนอให้ปลดปล่อยจากพันธนาการทั้งหลาย แนวคิดของเขามีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสเมื่อปี 1789
รุสโซไม่ได้โด่งดังเพราะเป็นเจ้าของแนวคิดเรื่อง “สัญญาประชาคม” ที่สร้างเสรีภาพ เสมอภาพและภราดรภาพเท่านั้น เขาพูดถึงระบบการศึกษาที่ต้องเปลี่ยนแปลง ให้เอา “เด็กเป็นศูนย์กลาง” ไม่ใช่เอาครู เอาตำราเป็นหลัก เขาเขียนเรื่องนี้ใน “Emil : or on Education” 260 ปีก่อน
แต่วันนี้เราก็ยังเห็นการศึกษาที่มาจากฐานคิด “โง่ จน เจ็บ” คิดว่าเด็กโง่ ชาวบ้านโง่ ต้องสอน ต้องสั่งเพื่อให้หายโง่ ด้วยระบบและวิธีการจัดการศึกษาที่คิดว่าทุกคนเป็น “สิ่งของ” (object) ที่เหมือนกันหมด ไม่ใช่ “คน” (subject) ที่มีศักยภาพแตกต่างกัน ทำให้โรงเรียนเป็นเหมือนโรงงานอุตสาหกรรม
ไอน์สไตน์จึงบอกว่า “ถ้าคุณประเมินความสามารถของปลาจากการปีนต้นไม้ ปลาคงจะคิดว่ามันโง่ไปตลอดชีวิต” สังคมก็กำหนดความฉลาดความโง่จากภาพลักษณ์ “ภายนอก” ไม่ได้เข้าใจศักยภาพ “ภายใน”
สังคมทำให้คน “รู้สึก” ว่าโง่ จน เจ็บ จน “กลายเป็น” คนโง่ จน เจ็บ ไปจริงๆ เหมือนเจ้าของบ้านที่ด่าว่าเด็กบ้านนอกที่มาทำงานที่บ้านว่า “โง่” เช้าถึงเย็นวันละ 6 หน จนวันหนึ่งเด็กคนนั้นตื่นขึ้นมา “โง่สนิท”
“ชาวบ้าน” ในสังคมไทยก็ไม่ได้ต่างกัน ถูกว่า “โง่ จน เจ็บ” มาไม่ใช่ 6 วัน 6 เดือน 6 ปี แต่ 60 ปีตั้งแต่ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุมเมื่อปี 2504 เพลงที่สะท้อนแนวคิดการพัฒนา และวาทกรรมโง่ จน เจ็บ ของชาวบ้านที่แม้แต่ผู้ใหญ่บ้านเองก็ยังเข้าใจว่า สุกรคือหมาน้อยธรรมดา
ตั้งแต่ 2504 เราได้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมา 13 ฉบับบนฐานคิดโง่จนเจ็บ เพราะเมื่อคิดว่าคนเกิดมาโง่จนเจ็บ ไม่เท่าเทียมโดยธรรมชาติ สังคมจึงกำหนดโอกาสไม่เท่าเทียมด้วยโครงสร้างที่บิดเบี้ยว หนุนด้วยระบบคุณค่าเรื่องใบปริญญา เรื่องหน้าตาความร่ำรวย และความคิดว่าหมอเป็นเทวดา ยาเป็นของวิเศษ
ศูนย์กลางอยู่ที่รัฐ รัฐบาล ข้าราชการ ครู หมอ พ่อค้า ผู้กำหนดทุกอย่าง เพราะมีอำนาจ มีเงิน มีความรู้ จนกลายเป็น “ผู้วิเศษ” ที่หลงตัวเอง หลงอำนาจ หลงวาสนา คิดว่าตนดีกว่า เก่งกว่าคนอื่น
เราจึงคุ้นเคยนักกับแนวคิดการพัฒนาที่ “สอนให้คนจับปลา เพื่อจะได้มีปลากินตลอดชีวิต” ทั้งๆ ที่ชาวบ้านจับปลาได้ จับปลาเป็น รู้วิธีแต่ไม่มีโอกาสไม่มีที่จับปลาต่างหาก เพราะสังคมทำให้คนบางคนบางกลุ่มไปล้อมรั้ว ไม่ให้คนเข้าไปจับปลาในที่ “ส่วนรวม” ที่ถูกผูกขาดและถูกทำให้เป็นที่ “ส่วนบุคคล”
คนเกิดมาอิสระเสรี แต่สังคมสร้างพันธนาการให้ชีวิตของเขา คนจึงพึ่งตนเองไม่ได้ เพราะระบบทำให้เป็นเช่นนั้น คนถูกตัดโอกาสให้เรียนรู้และพัฒนา จึงไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทำงานได้ผลผลิตก็ต้องพึ่งพ่อค้า การศึกษาต้องพึ่งครู สุขภาพต้องพึ่งหมอ ชีวิตต้องพึ่งรัฐ พึ่งหลวง พึ่งนักการเมือง
เราถูกทำให้โง่ จน เจ็บ จึงต้องพึ่งคนอื่นหมดในทุกเรื่องทุกอย่าง ถูกเอาเปรียบ กดขี่ข่มเหง ทั้งแบบมองเห็น และที่มองไม่เห็น เป็นค่านิยมที่ถูกทำให้เชื่อ เพราะ “อำนาจนำ” (hegemony) ที่ครอบงำอย่างแยบยลหลายชั้น จนยากที่คนทั่วไปจะเข้าใจและตามทัน
เพราะเหนือรัฐบาล ยังมีทุนใหญ่ เหนือนักการเมืองยังมีผู้รับเหมา เหนือหมอยังมีบริษัทยา เหนือครูยังมีคนมีอำนาจ มีฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ผนึกกำลังกันแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ประชาชนเป็นเพียงลิ่วล้อในหนังจีน ตัวละครในหนังใหญ่ หรือหุ่นกระบอกที่ถูกชักถูกชูให้เล่นตามบทเจ้าของ
สังคมเช่นนี้จึงส่งเสริมให้คนดิ้นรนส่งลูกเรียนสูงๆ เพื่อจะได้เป็น “เจ้าคนนายคน” เพื่อไต่กระไดสังคมขึ้นไป จะได้เป็นผู้เล่น ผู้กระทำ ไม่ใช่ถูกเล่น ถูกกระทำ ถูกรังแก ดูถูกดูหมิ่น
สังคมเช่นนี้มีแต่ “ข้าราชการ” ที่เป็นเจ้าเป็นนาย ไม่มี “ข้าราษฎร” ที่รับใช้ประชาชน ข่าวสารวันนี้มีหมอบางคนอ้างตนเป็น “ผู้บริบาล” ไม่ใช่ “ผู้ให้บริการ” ที่ฟังดูไม่สมศักดิ์ศรี ต่ำต้อยด้อยค่า มีครูที่ผูกเนกไทใส่สูทแม้อากาศร้อนเหงื่อไหลไคลย้อย แต่เพราะอยากให้ดูสมเกียรติสมฐานะที่หลงตัวเอง
สังคมแบบนี้มีแต่คนหน้าไหว้หลังหลอก มือถือสากปากถือศีล (hypocrite) หาความจริงใจในการทำงานเพื่อสังคม เพื่อคนทุกข์คนยากไม่ได้ ถ้ามีความบริสุทธิ์ใจ ไม่คดไม่โกง คงไม่ต้องมีคนว่ายน้ำข้ามโขง วิ่งข้ามประเทศ เพื่อหางบประมาณซื้อเครื่องมือแพทย์ ซึ่งงบประมาณแผ่นดิน (ถ้าไม่กิน) มีเพียงพอ
ถ้าจะทำกิจกรรมจิตอาสา ควรช่วยกันหาทุนพัฒนาเครื่องมือเพื่อสร้างปัญญาให้สังคม เพื่อปลดปล่อยประชาชนให้หายโง่ จน เจ็บ ตั้งกองทุนภาคประชาสังคมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ เกิดขบวนการประชาชนที่รวมพลังเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างสังคม ให้เกิดความเป็นธรรม ปลดพันธนาการที่กดขี่ครอบงำ ทำให้คนอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีเสรีภาพ
ทำให้เกิดกองทุนแบบนี้ได้ก็ปลดปล่อยไปขั้นหนึ่งแล้ว เป็นการแก้ปัญหาถึงรากฐาน งานที่รัฐไม่ทำ เพราะประชาชนมีปัญญาจะ “ปกครองง่าย แต่ครอบงำยากและกดขี่ข่มเหงไม่ได้เลย” (วิลเลียม เบลค)