“การุณ”เผยสำนักนิติการ สรุปโทษวินัยร้ายแรง ขรก.ซี 8 ทุจริตกองทุนเสมาฯ แล้ว เตรียมเสนอ อ.ก.พ.สป.ฟันไล่ออก-ปลดออก 26 มี.ค.นี้ ด้าน”อรรถพล” พบข้อมูลทุจริตเพิ่มอีก 30 ล้าน ประสาน ป.ป.ท.ขอข้อมูลที่ได้จากการค้นบ้าน ขรก.ซี 8 สอบย้อนหลังทั้งระบบ
วันที่ 23 มี.ค.2561 นายการุณ สกุลประดิษฐ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบการทุจริตเงินกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต ระหว่างปี 2551-2561 เป็นเงินกว่า 88 ล้านบาท ว่าขณะนี้สำนักนิติการ สำนักงานปลัด ศธ.ได้ทำการสรุปและเสนอโทษทางวินัย นางรจนา สินที นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ (ระดับ 8) สำนักส่งเสริมกิจการการศึกษา ของ สป.ศธ. อดีตผู้ดูแลกองทุนฯ เรียบร้อยแล้ว โดยเสนอให้ลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งมีโทษ 2 คือไล่ออก หรือปลดออกจากราชการ ส่วนจะลงโทษสถานใดนั้น ยังไม่สามารถบอกได้ โดยตนจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) สป. เพื่อมีมติร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีที่ ป.ป.ท. เข้าค้นบ้านนางรจนา และพบเอกสารเพิ่มเติมตั้งแต่ปี 2540-2546 นั้นถือเป็นข่าวดี ทาง ศธ.จะขอเอกสารดังกล่าวจาก ป.ป.ท.มาตรวจอบ เพื่อจะไล่ดูว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นตั้งแต่ปีไหน เรื่องนี้ นพ.ธีระเกียรติ เจรญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ย้ำว่า ให้ตรวจสอบทั้งระบบโดยล่าสุดทางนิติกรได้ทำคำสั่งให้ตั้งคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงความผิดทางละเมิด เรียบร้อยแล้ว ซึ่งตนเตรียมจะเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ ลงนามเร็ว ๆ นี้
ด้าน นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการ ศธ. ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง การทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิตระหว่าง ปี 2551-2561 จำนวน 88 ล้านบาท กล่าวว่า ขณะนี้ทางคณะกรรมการสืบสวนฯ อยู่ระหว่างรวบรวมเอกสาร ซึ่งนโยบาย นพ.ธีระเกียรติ ต้องการให้ตรวจสอบกองทุนฯ นี้ทั้งระบบ ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบย้อนหลัง ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งกองทุนฯ อย่างเป็นทางการในปี 2543 ซึ่งเป็นช่วงที่ได้เงินประเดิมกองทุนฯ จำนวน 600 ล้านบาทจากสลากกินแบ่งรัฐบาล
โดยเอกสารที่รวบรวมมีทั้งเอกสารที่เป็นบันทึกรายงานการประชุม การจัดทำบัญชีเบิกจ่ายในแต่ละปี แม้จะมีเอกสารส่วนหนึ่งที่ยังหาไม่เจอ แต่ทางคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้ค้นพบเอกสารเพิ่มเติมมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดพบเอกสารการเงินที่เกี่ยวข้องกับปี 2551 และ ปี 2553 และยังพบว่าปี 2550 มีการทุจริตเพิ่มเติม แต่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและค้นหาเอกสารยืนยัน
ทั้งนี้จากเอกสารและข้อมูลที่พบทั้ง 3 ปี พบว่ามีตัวเลขเงินที่หายไปเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30 ล้านบาท แต่ทางคณะกรรมการสืบสวนฯ ยังยืนยันไม่ได้ว่าตัวเลข 30 ล้านบาท ที่พบเป็นการทุจริตทั้งหมดหรือไม่
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้เชิญ นางรจนา มาให้ข้อมูลแล้วถึง 3 ครั้ง แต่นางรจนา ปฏิเสธโดยบอกว่ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งล่าสุดนัดเข้าให้ข้อมูลอีกครั้งวันที่ 23 มี.ค.2561 แต่ก็ไม่มีการประสานเข้ามา และคิดว่านางรจนา คงไม่มาให้ข้อมูลอีก ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีก 4 รายนั้น ยังไม่ได้เชิญตัวมาให้ข้อมูล ตอนนี้ทางคณะกรรมการสืบสวนฯ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบจากเอกสารก่อน เพราะเป็นหลักฐานที่สำคัญที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่ตัวผู้กระทำความผิดได้ ส่วนพยานบุคคลเป็นเพียงการให้ข้อมูลยืนยันว่าจริงหรือไม่จริง ดังนั้น แม้ไม่ได้สอบสวนผู้เกี่ยวข้องก็เชื่อว่าจะมีหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อมโยงไปถึงผู้ที่ทำการทุจริตได้
“ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อีก 4 ราย แค่ปรากฏชื่อว่ามีส่วนร่วมดำเนินการกองทุนฯ จะไปพุ่งเป้าว่าเขาร่วมทำการทุจริตด้วยไม่ได้ แต่หากได้เอกสารครบก็จะสามารถแจกแจงได้ชัดขึ้นว่าในแต่ละปีเงินหายไปเท่าไร และมีใครเกี่ยวข้องได้ ส่วนนางรจนา ยังถือว่าเป็นข้าราชการ และหากการประชุม อ.ก.พ.สป. วันที่ 26 มี.ค.2561 มีมติลงโทษวินัยอย่างร้ายแรง ไล่ออกหรือปลดออก นางรจนา ออกจากราชการ คณะกรรมการสืบสวนฯ ก็ยังคงต้องทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลหลักฐาน และเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงที่เกี่ยวข้องพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป”นายอรรถพล กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะเชิญอดีตปลัด ศธ.ที่อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวมาให้ข้อมูลหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ตอนนี้ขอให้สรุปข้อมูลจากเอกสารให้ได้ก่อน ส่วนผู้บริหารในอดีตบางคน มีการมอบหมายให้รองปลัด ศธ.ดูแลแทน และส่วนใหญ่จะเซ็นอนุมัติในหลักการ ซึ่งการที่เห็นลายเซ็นปรากฏในเอกสารอนุมัติงบฯ ต่าง ๆ นั้นก็อาจเป็นการอนุมัติงบฯ ภาพรวม ซึ่งตรงนี้ก็ต้องไปตรวจสอบ ส่วนที่ ป.ป.ท.เข้าค้นบ้านนางรจนา และพบเอกสารการดำเนินการกองทุนฯ ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2540-2546 นั้นถือเป็นเรื่องดี ตนจะทำหนังสือประสานขอข้อมูลจาก ป.ป.ท.ต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ